วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของบทบาท

ความหมายของบทบาท

                                คำหนึ่งที่มักใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า บทบาทก็คือ สถานภาพ” (Status) ซึ่งหมายถึงตำแหน่งของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ซึ่งที่จริงแล้วเป็นมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่าบทบาท (Role) เพราะบทบาทเป็นสิ่งที่บุคคลถือว่าตนเป็นเช่นนั้นมีพฤติกรรมบางอย่างที่พึงกระทำ รวมทั้งถูกคาดหวังจากบุคคลอื่นว่าต้องกระทำด้วย การที่ต้อง สวมบทบาทนั้นๆ มีผลให้ต้องมีการกระทำ การแสดงออกบางอย่างไปตามบทบาทในสังคมที่ตนสวมอยู่นั้น ผู้บริโภคเพศชาย (บทบาทของความเป็นผู้ชายในสังคม) ย่อมเลือกดื่ม ใช้ บริโภคสินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นชาย และไม่ยอมใช้สินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นของเพศหญิง หรืออ่อนนุ่ม อ่อนไหว หวาน แสดงออกถึงอารมณ์ หรือผู้สูงอายุก็จะตระหนักถึงบทบาทการเป็นผู้สูงอายุที่จะไม่เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่แบบเดียวกับวัยรุ่น หรือย้อมโกรกผมสีตามสมัยนิยม แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่บทบาท (Role) เป็นสิ่งที่มักไปควบคู่กับสถานภาพ โดยที่บทบาทคือสิ่งที่กลุ่มคาดหวังการแสดงออกของผู้ที่มีสถานภาพนั้นๆ นั่นเอง  อีกประการหนึ่งการมี  “บทบาท”  แตกต่างจากการมี  “หน้าที่”  เพราะการแสดง พฤติกรรมตามบทบาทเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการระบุแจ้งไว้อย่างชัดเจนเหมือนการมีหน้าที่ แต่เป็นเพียงการแสดงพฤติกรรมตามที่บุคคลนั้นๆ เลือกที่จะแสดงตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสมสมควรหรือเป็นไปตามความคาดหวังของคนรอบข้างหรือสังคม

บทบาท
บทบาท หมายถึง การปฏิบัติตามหน้าที่และสิทธิของตนตามสถานภาพของตน สถานภาพ คือตำแหน่ง ส่วนบทบาทคือการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพ สถานภาพและบทบาท มักจะเป็นของคู่กัน ซึ่งเมื่อมีสถานภาพจะต้อง มีบทบาทด้วย เช่น นายดำกับนางสาวขาวแต่งงานกัน นายดำเป็นสามี นางสาวขาวเป็นภรรยา ความเป็นสามีของนายดำและความเป็นภรรยา ของนางขาว ถือว่าเป็นสถานภาพ คือ ตำแหน่งทางสังคม นายดำ จะต้อง ปฏิบัติหน้าที่สามี เป็นต้นว่า ประกอบอาชีพการงาน หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว จะต้องรัก ซื่อสัตย์ต่อนางขาวผู้เป็นภรรยา จะต้องให้ความคุ้มครองดูแลนางขาวผู้เป็นภรรยา ให้มีความสุขกาย สบายใจ นางขาวผู้เป็นภรรยาก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ความ เป็นภรรยา ด้วยการซื่อสัตย์ต่อ นายดำผู้สามี ดูแลทุกข์สุขของนายดำผู้สามีให้มีความสุขกายสบายใจ ฯลฯ การปฏิบัติตามสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้เรียกว่า บทบาท  การที่บุคคลมีบทบาทต่อสังคม และปฏิบัติตามหน้าที่ที่สังคมยอมรับ มีความสำคัญเป็นอันมาก เพราะทำให้การจัดระเบียบสังคมดีขึ้น เป็นการควบคุมสังคมให้เป็นระเบียบ ถ้าคนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามบทบาทของตนในสังคมให้สมกับสถานภาพที่ได้รับ ก็จะทำให้สังคมเสียระเบียบ ทำให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากให้แก่สังคม
ความสำคัญของบทบาทในสังคม

บทบาท เป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดแนวทางให้บุคคลแสดงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการแสดงพฤติกรรมในสังคม ในแต่ละสถานการณ์การแสดงออกของบุคคลมักต้องเป็นไปตาม บทบาทไม่ว่าเขาจะพึงพอใจที่จะแสดงหรือไม่ก็ตาม เช่น บทบาทของหัวหน้าที่ต้องมีการทักทาย  ให้กำลังใจลูกน้อง บทบาทของผู้ปกครองที่ต้องการว่ากล่าวสั่งสอนลูกเมื่อเขาทำผิด บทบาทของพนักงานขายในร้านค้าที่ต้องทักทายลูกค้าด้วยอัธยาศัยที่ดีและพร้อมที่จะให้บริการ ฯลฯ และโดย   อันที่จริงแล้ว ในสังคมที่เป็นอยู่เรามักตัดสินบุคคลตามบทบาทของเขาคือ ตัดสินว่าเขาทำหน้าที่ตามบทบาทนั้นๆ ได้ดีเพียงพอหรือไม่ หรือการแสดงบทบาทของเขาเป็นที่พึงพอใจแก่สังคมหรือไม่


ประเภทของบทบาท

1.  บทบาทที่ถูกกำหนดตามคุณสมบัติ (Ascribed Role) ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม บุคคลจะต้องรับบทบาทตามคุณสมบัติส่วนตัว เช่น บทบาทการเป็นผู้ชาย บทบาทตามวัยและอายุ เป็นต้น ซึ่งบทบาทนี้ถูกกำหนดมาจากสังคม
2. บทบาทตามที่เลือก (Acquired Role) บทบาทนี้เป็นไปโดยสมัครใจมากกว่า    บทบาทกลุ่มแรก  เช่น บทบาทตามอาชีพและตำแหน่งงาน

แนวคิดทฤษฏีเกี่ยวกับบทบาท (Role)
คำว่า "บทบาท" (Role) ที่ใช้พูดถึงความคิดทางวิชาการมียอร์จ ซิยเมล (George Scmmel) ใช้เป็นคนแรกในปี ค. ศ. ๑๙๒๐ ต่อมาในปี ค. ศ. ๒๙๒๑ ปาร์ค (Park) และเบอร์เวส (Burgcs) ใช้บทบาทในเรื่อง "The Self as the lndivdual CONCEPTION OF His Role" นักทฤษฎีที่สำคัญของทฤษฎีบทบาทที่ได้อธิบายขยายความเรื่องนี้ที่สำคัญมีอยู่ ๓ คน คือ ยอร์จ มีด (Gcorgc H. Mead) จาค็อบ โมเรโน (Jacob Moreno) และราฟ ลินตัน (Ralph Linton)[1]
คำว่า "บทบาท" ได้มีหน่วยงานและนักวิชาการให้ไว้หลายลักษณะพอจะประมวลได้ดังนี้
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า บทบาท หมายถึง การทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ เช่น บทบาทพ่อแม่ บทบาทครู หรือหน้าที่ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย[2]
สำหรับพจนานุกรมศัพท์สังคมวิชาอังกฤษ-ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า บทบาท หมายถึง หน้าที่หรือพฤติกรรมที่สังคมกำหนดและคาดหมายให้บุคคลกระทำ[3]
พจนานุกรมคอลลินส์  ให้คำจำกัดความหมายของบทบาทไว้ ๓ ลักษณ์ คือ
  • ๑. บทบาทการแสดงที่แสดงโดยผู้แสดงหญิงหรือชาย
  • ๒. บทบาททางจิตวิทยาที่บุคคลแสดงตามกฎเกณฑ์ของสังคม ด้วยอิทธิพลของความคาดหวังของบุคคลที่คิดว่าเหมาะสม
  • ๓. บทบาทที่เป็นหน้าที่ปกติ ซึ่งองค์กรเป็นผู้กำหนดให้[4]
รุจา ภูไพบูลย์  ได้สรุปความหมายของบทบาทไว้ดังนี้ บทบาท หมายถึง กลุ่มของพฤติกรรมที่แสดงออกตามความคาดหวังของสังคมตามสถานภาพของกลุ่มบุคคลนั้นๆ หรือการปฏิบัติตามบทบาทของบุคคล บทบาทจะถูกนำมาใช้เพื่อสิ่งต่างๆ ที่ถูกตนและบุคคลอื่นกระทำ[5]
สุชา จันทร์เอม และสุรางค์ จันทรน์เอม อธิบายถึงความหมายของบทบาทไว้ว่า บทบาทที่ใกล้เคียงกับสถานภาพมาก บทบาทเป็นสิ่งที่บุคคลในสถานภาพต่างๆ พึงกระทำ นั่นคือเมื่อสังคมกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้สถานภาพใดอย่างไรแล้ว บุคคลในสถานภาพนั้นๆ จะต้องประพฤติหรือปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้[6]
โสภา ชูพิกุลชัย  กล่าวว่า บทบาท คือ ลักษณะความคาดหวังที่บุคคลอื่นให้คนหนึ่งกระทำ เพื่อใช้เครื่องมือวินิจฉัยตำแหน่งฐานะของคนคนนั้น[7]
ขบวน พลตรี บทบาท คือ แบบแผนพฤติกรรมเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพหรือตำแหน่งทางสังคม บทบาทเป็นการเคลื่อนไหวของสถานภาพหรือหน้าที่ตามสถานภาพนั่นเอง[8]
จากความจำกัดความข้างต้น บทบาท คือหน้าที่ที่บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ได้รับทางสังคมและต้องแสดงออกตามความคาดหวังของสังคม แต่ในขณะเดียวกันทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วัฒนธรรมและจิตวิทยา มีความเห็นว่าบทบาทเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์สังคมศาสตร์โดยมีนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาได้มีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทไว้ดังนี้

สุพัตรา สุภาพ ได้กล่าวไว้ว่า บทบาท คือ การปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพ (ตำแหน่ง) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะมีหลายบทบาท  และแต่ละบทบาทจะมีความสมบูรณ์หรือสมดุลกันพอควร นอกจากนี้ยังได้กล่าวไว้ว่า  บทบาทจะกำหนดความรับผิดชอบของงานต่างๆ ที่ปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลมีพฤติกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ[9]
งามพิศ สัตย์สงวน ได้ให้ความหมายไว้ว่า บทบาทหมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งคาดหวังสำหรับผู้ที่อยู่ในสถานภาพต่างๆ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นบทบาทที่คาดหวังโดยกลุ่มคนหรือสังคม เพื่อทำให้คู่สัมพันธ์มีการกระทำระหว่างการทางสังคมได้ รวมทั้งสามารถคาดการณ์พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้[10]
ซึ่งมีความสอดคล้องกับโคเฮนและออร์บุช ที่กล่าวว่า บทบาทหมายถึงพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งคาดหวังว่าบุคคลอื่นจะปฏิบัติตามตำแหน่งหรือสถานภาพและบทบาทที่เหมาะสมเรียนรู้ได้จากกระบวนการต่างๆในสังคมที่ผ่านมาแล้วซึมซับเข้าไปในตัวบุคคล[11]
ฮาร์ดี และคอนเวย์ (Hardy & Conway, ๑๙๘๘ อ้างถึงใน วราลี วิริยานันตะและทัศนา บุญทองและได้ให้ความหมายของบทบาทเพิ่มเติมว่า บทบาทที่แสดงออกจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับกระบวนการทางสังคม (Socialization) เพราะถ้าการคาดหวังในบทบาทของทุกฝ่ายไม่ตรงกันย่อมทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาได้ ผู้สวมบทบาทจึงต้องตระหนักถึงปัจจัยต่อไปนี้ในการสวมบทบาทในสังคมที่มีประสิทธิภาพ
  • ๑. ความเข้าใจในบทบาทที่ตนต้องแสดงหรือปฏิบัติ
  • ๒. ประสบการณ์ของผู้ที่ต้องแสดงบทบาท
บุคลิกชองผู้แสดงบทบาทนั้น[12],[13]
จากคำจำกัดความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแสดงบทบาทที่ประสบผลสำเร็จต้อมีพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม และแรงจูงใจของบุคคลประกอบ
พัทยา สายหู ได้อธิบายบทบาทหน้าที่ไว้ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นบุคคลและเปรียบได้เสมือน "บท" ของตัวละครที่กำหนดให้ผู้แสดงในละครเรื่องนั้นๆ เป็นตัว (ละคร) อะไร มีบทบาทต้องแสดงอย่างไร ถ้าแสดงผิดบทบาทหรือไม่สมบทก็อาจถูกเปลี่ยนตัวไม่ให้แสดงไปเลยในความหมายเช่นนี้ "บทบาท" ก็คือ การกระทำต่างๆ ที่"บท" กำหนดไว้ให้ผู้แสดงต้องทำตราบใดที่อยู่ใน "บท" นั้น[14]
ฑิตยา สุวรรณชฏ  ได้แสดงความคิดไว้ว่า บทบาทเป็นลักษณะพฤติกรรมที่กำหนด และยังได้แบ่งหน้าที่ออกเป็น "บทบาทในอุดมคติ" (ldeal Role) หรือบทบาทที่ผู้ดำรงตำแหน่ง อารมณ์ขณะแสดงบทบาท และอุปกรณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอยู่ ปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามได้สรุปฐานะตำแหน่ง และบทบาททางสังคมไว้ ดังนี้
  • ๑. มีสถานภาพ (status) อยู่จริงในสังคม และมีอยู่ก่อนตัวตนจะเข้าไปครอง
  • ๒. มีบทบาทที่ควรจะเป็นอยู่แต่ละตำแหน่ง
  • ๓. วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีในสังคมนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดฐานตำแหน่ง และบทบาทที่ควรจะเป็น
  • ๔. ฐานะ ตำแหน่งแต่ละบทบาทนั้น ได้มาจากการขัดเกลาทางสังคม (Socialization)
  • ๕. บทบาทที่ควรจะเป็น นั้นไม่แน่นอนเสมอไปว่าจะเหมือนกัน พฤติกรรมที่เป็นจริงของคนที่ครองฐานะตำแหน่ง เพราะพฤติกรรมจริงเป็นผลของปฏิกิริยาของคนที่ครองตำแหน่งที่มีต่อบทบาทที่ควรจะเป็นบุคลิกภาพของตนเอง และคนอื่นที่เข้าร่วมพฤติกรรมและเครื่องกระตุ้นที่อยู่ในเวลา และสถานที่เกิดจากการติดต่อทางสังคม[15]
นอกจากนี้ ชุดา จิตพิทักษ์ (๒๕๒๘:๖๑) มีความเห็นว่าบทบาทอาจพิจารณาได้ ๒ ความหมายคือ
๑. พิจารณาในโครงการโครงสร้างทางสังคม บทบาท หมายถึง ตำแหน่งทางสังคมที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ ซึ่งแสดงลักษณะโดยคุณสมบัติและกิจกรรมของบุคคลที่ครองตำแหน่งนั้น
๒.พิจารณาในโครงการการกระทำต่อกันหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทจึงหมายถึงผลสืบเนื่องที่มีแบบแผนของการกระทำเกิดการเรียนรู้ของบุคคลที่อยู่ในสถานภาพการปฎิสัมพันธ์นั้น
นอกจากนี้ สงวนศรี วิรัชชัย (๒๕๒๗ : ๒๓-๒๔) กล่าวว่าถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบบทบาทอยู่ ๕ ลักษณะ คือ
๑. บทบาทตามที่กำหนด หมายถึง บทบาทที่สังคม กลุ่ม หรือองค์การกำหนดไว้ว่าเป็นรูปแบบของพฤติกรรมประจำตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม กลุ่ม หรือองค์การนั้น ๆ
๒. บทบาทที่ผู้อื่นคาดหวัง หมายถึง บทบาทหรือรูปแบบของพฤติกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องคาดหวังว่าผู้อยู่ในตำแหน่งจะถือปฏิบัติ
๓. บทบาทตามความคิดของผู้อยู่ในตำแหน่ง หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมที่บุคคลผู้อยู่ในตำแหน่ง คิดและเชื่อว่าเป็นบทบาทของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่
๔. บทบาทที่ปฏิบัติจริง หมายถึง พฤติกรรมที่ผู้อยู่ในตำแหน่งได้ปฏิบัติหรือแสดงออกมาให้เห็น ซึ่งมักจะเป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทตามความคิดของผู้อยู่ในตำแหน่ง
๕. บทบาทที่ผู้อื่นรับรู้ หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมที่ผู้อื่นได้รับทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติบทบาทของผู้อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งมักจะมีการเลือกรับรู้และรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริงได้
บรูม (Broom) และเซลซ์นิค (Selznick, ๑๙๗๗ : ๓๔-๓๕) ได้อธิบายความหมายของบทบาทไว้อีกดังนี้
๑. บทบาทที่กำหนดไว้หรือบทบาทตามอุดมคติ (The Socially Prescribed or Ideal Role) เป็นบทบาทที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของตำแหน่งทางสังคมไว้
๒. บทบาทที่ควรกระทำ (The Perceived Role) เป็นบทบาทที่แต่ละบุคคลเชื่อว่าควรกระทำในหน้าที่ตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งอาจไม่ตรงตามบทบาทที่กำหนดไว้ ไม่ตรงตามอุดมคติทุกประการและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลก็ได้
๓. บทบาทที่กระทำจริง (The Performed Role) เป็นบทบาทที่แต่ละบุคคลได้กระทำไปจริงตามความเชื่อ ความคาดหวัง ตลอดจนความกดดันและโอกาสที่จะกระทำในแต่ละสังคม ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จากคำจำกัดความข้างต้น
ลีวินสัน (Levinson, ๑๙๗๑, p. ๑๑) ได้สรุปความหมายของบทบาทไว้ ๓ ประการ คือ
๑. บทบาท หมายถึง บรรทัดฐาน (norm) ความคาดหวังข้อห้ามความรับผิดชอบซึ่งผูกพันอยู่กับตำแหน่งทางสังคมที่กำหนดไว้ บทบาทตามความหมายนี้ คำนึงถึงตัวบุคคลน้อยที่สุดแต่มุ่งไปที่การชี้หน้าที่อันควรกระทำ
๒. บทบาท หมายถึง ความคิดเห็นของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งที่จะคิด และทำเมื่อดำรงตำแหน่งนั้นๆ
๓. บทบาท หมายถึง การกระทำของบุคคลแต่ละคนที่มีจะกระทำโดยให้สัมพันธ์กับโครงสร้างของสังคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แนวทางอันบุคคลที่พึงกระทำเมื่อตนตำรงตำแหน่งนั้นๆ นั่นเอง[16]
ดังนั้น บทบาทจึงเป็นความคาดหวังทางการกระทำว่า  ในสถานภาพหนึ่งๆ บุคคลควรจะมีบทบาทเช่นไร โดยมีการเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญ เพื่อให้ทราบว่า แต่ละบุคคลจะต้องแสดงบทบาทเช่นไร  ซึ่งการเรียนรู้บทบาทนี้จะเกิดจากการเลียนแบบอย่างและการสังเกตจากบุคคลที่เรายึดถือ  เพื่อจะนำมาเป็นแบบอย่างของบทบาทของตน  ที่จะแสดงต่อผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ  ในสังคมที่ตนเองต้องการ  แต่ทั้งนี้การเสนอภาพของตนเองหรือการแสดงบทบาทและการสวมบทบาทนี้ อาจจะสอดคล้องหรือขัดแย้งกับความคาดหวังของสังคมก็ได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว บทบาท หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมหรือการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ หน้าที่และสิทธิ ซึ่งผูกพันอยู่กับสภาพหรือฐานะตำแหน่งทางสังคมโดยที่สังคมจะกำหนดหรือคาดหวังบทบาทและบุคคลในแต่ละสถานภาพ หรือฐานะตำแหน่งไว้เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในสถานภาพ หรือตำแหน่งนั้นๆ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
สงวน สุทธิเลิศอรุณ (๒๕๒๕, หน้า ๕๖-๕๗) ได้สรุปทฤษฎีบทบาทต่อไปนี้
๑.ทฤษฎีบทบาทของราล์ฟ ลินตัน (Ralp Linton,s role theory) ได้กล่าวว่า ตำแหน่งหรือสถานภาพเป็นผู้กำหนดบทบาท เช่น บุคคลที่มีตำแหน่งเป็นครูต้องแสดงพฤติกรรมเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์
                ๒.ทฤษฎีบทบาทของแนดล (Nadel,s role theory) ได้กล่าวไว้ว่า บทบาทคือส่วนประกอบที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ๓ ลักษณะ คือส่วนประกอบที่ส่งเสริมบท เช่น ครู ต้องพูดเก่งหรือมีอารมณ์ขัน ส่วนประกอบที่มีผลสำคัญต่อบทบาทและขาดมิได้ เช่น เป็นแพทย์ต้องรักษาคนไข้และส่วนประกอบที่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ครูต้องเป็นสมาชิกคุรุสภาโดยกำหนดให้เป็นสมาการได้ดังนี้
P = f (a,b,c...)
ถ้ากำหนดให้
P คือ บทบาท
a คือ ส่วนประกอบที่ส่งเสริมบทบาท
b คือ ส่วนประกอบที่มีผลต่อบทบาทและขาดมิได้
c คือ ส่วนประกอบที่เป็นไปตามกฎหมาย
จากสมการอธิบายได้ว่า บทบาทจะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบหลายๆส่วน อย่างน้อย ๓ ส่วน ขึ้นไปจนถึง n ส่วน
๓. ทฤษฎีบทบาทของโฮมันน์ (Homann,s role theory) ได้กล่าวว่าบุคคลจะเปลี่ยนบทบาทไปตามตำแหน่งเสมอ เช่น ตลอดกลางวันแสดงบทบาทสอนหนังสือเพราะมีตำแหน่งเป็นครูสอนตอนเย็นแสดงบทบาทเรียนหนังสือ เพราะมีตำแหน่งเป็นนิสิตภาคสมทบ เป็นต้น
๔. ทฤษฎีบทบาทของพาร์สันซ์ (Parson,s role theory) กล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมทำให้มนุษย์ต้องเพิ่มบทบาทของตนเช่น บุคคลที่มีเพื่อนมากก็ต้องแสดงบทบาทมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
๕. ทฤษฎีบทบาทของเมอร์ตัน (Merton,s role theory) ได้กล่าวไว้ว่า บุคคลแต่ละคนจะต้องมีตำแหน่งและบทบาทควบคู่กันไปซึ่งไม่เหมือนกัน บทบาทจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทักษะของสังคมที่เขาสังกัดอยู่ตลอดจนลักษณะของบุคคลในสังคมนั้น
๖. ทฤษฎีบทบาทของกุ๊ด (Good,s role theory) กล่าวไว้ว่า บทบาทคือ แบบแผนของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของแต่ละบุคคลและบทบาทดังกล่าวควรเป็นไปตามข้อตกลงที่มีต่อสังคมนั้นๆ
๗. ทฤษฎีบทบาทของกัสคิน (Guskin,s role theory)  ได้กล่าวว่า พฤติกรรมของบุคคลแต่ละคนคือผลที่ได้จากตำแหน่งทางสังคมของเขานั่นเองและทฤษฎีบทบาทจัดเป็นข้อตกลงประการแรกที่สถาบันต่างๆในสังคมคาดหวังว่าบุคคลที่ได้รับตำแหน่งต่างๆ ควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง[17]
จากทฤษฎีที่ระบุข้างต้น สงวน สุทธิเลิศอรุณ (๒๕๒๒, หน้า ๓๙) ได้สรุปแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับบทบาทที่คาดหวังและบทบาท แบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ
                ๑. บทบาทที่เป็นจริง (Actual Role) เป็นบทบาทที่เจ้าของสถานภาพแสดงจริง ซึ่งอาจจะเป็นบทบาทหน้าที่ที่สังคมคาดหวัง หรือบทบาทที่ตนคาดหวัง หรืออาจไม่เป็นบทบาทที่ตนเองหรือสังคมคาดหวังก็ได้
                ๒.บทบาทตามความคาดหวัง (Expected Role) เป็นบทบาทหน้าที่ผู้อื่นคาดหวังว่า เจ้าของควรมีบทบาทเช่นไร
                ๓. บทบาทตามลักษณะการรับรู้ (Perceived Role) เป็นบทบาทหน้าที่เจ้าของสถานภาพรับรู้ว่าตนเองควรจะมีบทบาทเช่นไร
                จากทฤษฎีทั้งหลายที่กล่าวมานี้ พอจะสรุปได้ว่า บทบาท หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่ตำแหน่งตามสถานภาพที่ตนเองเป็นอยู่ ถ้าตำแหน่งหรือสถานภาพเปลี่ยนไป บทบาทก็เปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้นตำแหน่งและสถานภาพกับการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบตามตำแหน่งและสถานภาพจึงควบคู่กันเสมอ
                การแสดงบทบาทของบุคคลนั้น ต้องเข้าถึงความหมายของบทบาท ๔ ประการได้แก่
                ๑. ความคาดหวังในบทบาท (Role-expectation) คือ บทบาทที่มีอยู่ระบบสังคมเป็นบทบาทที่บุคคลในสังคมคาดหวังให้บุคคลอื่นปฏิบัติอยู่เมื่อดำรงตำแหน่งอยู่ในสังคม
                ๒. การรับรู้บทบาท (Role-precipitation) คือ การที่บุคคลมองเห็นหรือคาดหวังว่าตนเองควรจะมีบทบาทเช่นไร ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมหรือไม่ก็ได้
                ๓. บทบาทของพฤติกรรมที่ปฏิบัติจริง (Actual behavior) ของบุคคลซึ่งอยู่ในสถานะทางอาชีพหรือการเงิน (Zanden&Vander,๑๙๙๓, p.๔๗)
                ๔. การยอมรับบทบาท (Role-aceeptation) คือการที่บุคคลปฏิบัติตามความคิดโดยผ่านกระบวนการของบทบาททั้ง ๓ ที่กล่าวมาแล้ว
                บรูมและเซลล์นิค ได้กล่าวถึงบทบาทว่าประกอบลักษณะต่างๆ ๓ ประการ คือ
                ๑. บทบาทในอุดมคติหรือสิ่งที่สังคมกำหนด(The Socially Prescribed or Ideal Role)เป็นบทบาทในอุดมคติที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามตำแหน่งทางสังคมไว้
                ๒. บทบาทที่ควรกระทำ(The Perceived Role)เป็นบทบาทที่แต่ละบุคคลเชื่อว่าควรกระทำตามตำแหน่งที่ได้รับซึ่งอาจไม่เหมือนกับบทบาทในอุดมคติหรืออาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
                ๓. บทบาทที่กระทำจริง(The Performance Role)เป็นบทบาทที่บุคคลได้กระทำจริง ขึ้นอยู่กับความเชื่อความคาดหวังและการรับรู้ของแต่ละบุคคลตลอดจนความกดดันและโอกาสในแต่ละสังคมในระยะเวลาหนึ่งรวมถึงบุคลิกภาพและประสบการณ์ของแต่ละบุคคลด้วย[18]
                สำหรับการวิจัยนี้เป็นการศึกษารับรู้บทบาทของวัดตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและบทบาทเชิงรุกในบริบทใหม่ ดังนั้นสรุปความหมายของบทบาทว่าเป็นการกระทำของวัดที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามโครงสร้างตามอำนาจหน้าที่ วัดที่มีต่อการรับรู้และคาดหวังของบุคคล ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่วัดนั้นๆตั้งอยู่
           

ตอนที่ ๒ บทบาทของวัดกับสังคมไทย
พระพุทธเจ้าได้ประกาศโอวาทให้พระอริยะสาวกกลุ่มแรก ๖๐ รูป ให้ออกไปประกาศศาสนาที่มีใจความว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนเพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดรอบ จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีแน่ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเอยก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม"[19]
จากคำประกาศนี้ ก่อให้เกิดบทบาทของพระสงฆ์ขึ้นมากมายประกอบกับพระสงฆ์เป็นผู้อาศัยดำรงชีพด้วยผู้อื่น เกิดเป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแทนคุณเหล่านั้น พระพุทธองค์ได้กล่าวไว้ถึงการที่พระสงฆ์เป็นผู้ที่ได้รับการบำรุงและต้องตอบแทนคุณใจความว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต และเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศแบบการครองชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีและบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยกันและกัน ด้วยอามิสทานและธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการสลัดโอฆะเพื่อทำความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยอาการอย่างนี้"[20] และพระพุทธองค์ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของสมณะในการตอบแทน การอนุเคราะห์แก่กุลบุตรผู้บำรุงแก่สมณะในเรื่องทิศ ๖ ว่า
๑. สอนให้เว้นจากความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
๔. สอนสิ่งที่ยังไม่เคยได้สดับเล่าเรียน
๕. ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจนในสิ่งที่ได้ (แนะนำวิธีครองชีวิต ให้ได้รับผลดีและความสุข[21]
จากพุทธพจน์เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่กำหนดบทบาทของพระสงฆ์ที่มีต่อผู้อุปการะทั้งหลายว่า ตนจะต้องเป็นผู้เผยแผ่ประกาศศาสนา ประกาศธรรมสู่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเทศน์ การปาฐกถา การทำเอกสารเผยแผ่ การจัดตั้งสถานศึกษา เป็นต้น[22]
จากพุทธพจน์ข้างต้นจะเห็นได้ว่าวัดและพระสงฆ์เป็นรากฐานที่สำคัญของชุมชน  วัดเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลากรของวัดเป็นตัวแทนของวัดมีบทบาทเป็นผู้นำของชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนประชาชนเข้าร่วมและยอมรับในกิจกรรมเหล่านั้น วัดจึงมีส่วนช่วยภาครัฐในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง มีการสงเคราะห์ อนุเคราะห์สังคมโดยรวม ตอบสนองความต้องการของชุมชน ช่วยอบรมพัฒนาทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
"วัด" ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย พ.ศ. ๒๕๐๕ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ได้กล่าวถึงวัดไว้ดังนี้ คือ  มาตรา ๓๑[23]วัดมีสองอย่าง
          (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
          (๒) สำนักสงฆ์
          ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล  เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป
ตามหลักฐานที่ปรากฏพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ สมัยเดียวกันกับประเทศลังกา ด้วยการส่งพระสมณะทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ไม่น้อยกว่า ๗ ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทของวัดที่มีต่อชุมชนอย่างเด่นชัด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์บทบาทการเผยแผ่ของวัดเป็น ๒ ช่วง คือ
๑. บทบาทการเผยแผ่ของวัดในอดีต ซึ่งเป็นยุคก่อนการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ สังคมไทยในยุคนี้เป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย เป็นต้น
๒. การเผยแผ่ของวัดในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นมา เนื่องจากวัดและพระสงฆ์ได้ถูกดึงเข้ามามีบทบาทโครงการพัฒนาประเทศชาติหลายโครงการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น