วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของ"สิทธิมนุษยชน"

ความหมายของ"สิทธิมนุษยชน"
มีผู้ให้คำนิยาม " สิทธิมนุษยชน " ไว้หลายความหมาย เช่น
           จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ ที่ระบุไว้ว่า บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดามีที่ระบุไว้ในปฏิญาณนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด1
           หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนได้รับอย่างเสมอภาคกันเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ มีไมตรีจิต และมีความเมตตาต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษา ศาสนา สถานภาพทางกาย หรือสุขภาพ2
           หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการคุ้นครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฏหมายไทยหรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี3
           หมายถึง สิทธิของความเป็นมนุษย์ ผู้ที่เป็นมนุษย์ย่อมมีสิทธิดังกล่าว ตั้งแต่เกิดจนตายโดยปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีสิทธินี้ และสิทธินี้เกิดขึ้นโดยติดตัวมนุษยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย4
           หมายถึง สิทธิของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง โดยหลักบังคับของกฏหมายภายใต้หลักการเกียรติศักดิ์ สิทธิที่เท่าเทียมกัน ความเสมอภาค ที่จะเป็นการส่งเสริมให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข5
           หมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิในความเป็นมนุษย์นั้น มีทั้งสิทธิตามกฏหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฏหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม แต่เดิมสิทธิมนุษยชนจะกล่าวถึงในชื่ออื่น เช่น สิทธิในธรรม สิทธิในธรรมชาติ เป็นต้น6
           หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้7
ลักษณะของสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ
           ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ
           1. สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน(Primary Right) มนุษย์ที่เกิดมาในโลก ต่างมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
           2. สิทธิส่วนบุคคล(Personal Right) เป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลที่ผู้อื่นจะล่วงละเมิดมิได้ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเเต่ละบุคคล
           3. สิทธิของพลเมือง(Civil Right) เป็นสิทธิของประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองเเห่งรัฐ เป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องตามกฏหมาของรัฐ ซึ่งสิทธิพลเมืองได้เเก่
               3.1 สิทธิทางสังคม (Social Rigth) เป็นสิทธิของประชาชนทางสังคมที่จะได้รับบริการจากสังคม ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เช่น สิทธิการเข้าถึงการบริการสาธารนะ เป็นต้น
               3.2 สิทธิทางสวัสดิการสังคม (Social Welfare Right) เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับสวัสดิการทางสังคม เช่น สิทธิการได้รับการศึกษา ฯลฯ
               3.3 สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural Right) ได้เเก่ สิทธิเข้าร่วมในพิธีกรรม ประเพณีวัฒนธรรม ของประชาคมในด้านศิลปะต่างๆ6

ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน          สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะที่เป็นอารยะธรรมโลก (World Civilzation) ของมนุษย์ที่พยายามวางระบบความคิดเพื่อให้คนทั่วโลกเกิดความระลึกรู้ คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ยอมรับความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด สิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิตั้งแต่กำเนิด โดยให้ความสำคัญกับคำว่าชีวิต (Life) 7(ชะวัชชัย ภาติณธุ,2548:3) นอกจากนี้แล้วสิทธิมนุษยชนยังมีความสำคัญในแง่ของการเป็นหลักประกันของความเป็นมนุษย์สิทธิและ เสรีภาพ และสภาวะโลกปัจจุบันเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่สังคมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ผูกพันตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และที่สำคัญเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังได้ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าทำให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรทางการฑูต การงดการทำการค้าด้วย หรือกรณีการส่งกองกำลังทหารของสหประชาชาติเพื่อเข้าไปยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในบอสเนีย เฮอร์เซโกวิน่า และในโคโซโว ของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย เป็นต้น (กุมพล พลวัน, 2547:2-3) ด้วยสาเหตุและความสำคัญดังกล่าวมาข้างต้น เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมีความสำคัญทั้งในด้านสังคมโลกและการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย
สิทธิมนุษยชนจะครอบคลุมสิทธิต่างๆในการดำรงชีวิตของมนุษย์
           เพื่อให้มีชีวิตที่ดีในสังคม ดังนี้
           - สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่วาจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด
           - สิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
           - สิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน6

สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย           พัฒนาการการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์/สิทธิมนุษยชนในสังคมนั้นมีมายาวนาน สถานการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ถือว่าเป็นมิติการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่ในยุคเริ่มเปิดประเทศภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง,เหตุการณ์ร.ศ.103 ที่ชนชั้นสูงบางกลุ่มเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ร.ศ. 130ที่คณะทหารหนุ่มก่อการกบฏเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
           การปฎิวัติ 2475 ที่ปรากฏพร้อมหลัก 6 ประการของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกล่าวถึงหลักสิทธิเสมอภาคและความเป็นอิสรเสรีภาพ,การต่อสู้ในยุคเผด็จการทหารนับหลังจากรัฐประหาร 2490 จนถึงยุคของระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ นับตั้งแต่ปี 2501 เรื่อยมา (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:519) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ไทยจะให้การรับรองปฎิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2491 แต่แนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบอุดมการณ์เสรีนิยมตะวันตกก็เติบโตอย่างเชื่องช้าในสังคมไทย ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่ล้าหลังเป็นเผด็จการ แม้จะมีการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเข้มข้น เช่นในช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519ซึ่งต่อมาเรื่องของมนุษยชนเป็นปรากฏการณ์ความสนใจและมีการถกเถียงกันอย่างมาก จนกระทั่งมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อศึกษากฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.ที่แย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่ก็ล้มเหลวเพราะความไม่ต่อเนื่องของอายุของสภาผู้แทนราษฎร และความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการทำงาน รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและแม้ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงครั้งสำคัญของไทย ซึ่งชัยชนะของประชาชนมีผลผลักดันสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชนที่จริงจังในสังคมไทย และการสร้างกลไกต่างๆเพื่อป้องกันอำนาจเผด็จการทางทหาร และรัฐบาลของนายอานันท์ ปัณยารชุนได้บริหารประเทศได้นำประเทศเข้าสู่สมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง จนถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบปี 2540 ที่ดูจะเป็นความหวังของผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ไร้อำนาจที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐที่มีบทบาทในระดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งยังมีอาชีพอื่นอีกที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นต้น แต่ดูเหมือนรากเหง้าและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม ระบบทุนนิยม หรือวิถีพัฒนาที่มิได้เอาความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง วัฒนธรรมความเชื่อที่ล้าหลังจนก่อมายาคติผิดๆที่ไม่ศรัทธาคุณค่าความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียม เป็นผลให้เกิดความรุนแรงและสนับสนุนการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนจนฝังรากลึกมาถึงปัจจุบัน (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:522-526)
           สังคมไทยปัจจุบันเน้นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบตลาดได้ครอบงำเศรษฐกิจโลก และภายใต้ระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจในระบบตลาด ภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวไปสู่ความทันสมัย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน เห็นได้จากการจัดการทรัพยากรในภาคอีสาน เช่น การประกาศเขตวนอุทยานกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน การให้สัมปทานป่าแก่กลุ่มอิทธิพลภายนอกชุมชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์และการพัฒนาอุตสาหกรรม (เสน่ห์ จามริก, 2546:35-40)
           ตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ กรณีเขื่อนปากมูล ที่หลังจากการสร้างเขื่อนได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศที่ลุ่มน้ำมูลก็ถูกเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตในการทำมาหากิน ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพไปใช้แรงงานที่อื่น จำนวนป่าลดน้อยลง ชาวบ้านจับปลาไม่ได้พอเพียงแก่การเลี้ยงชีพ ทั้งที่เมื่อก่อนระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ ปลามีมากชาวบ้านจึงจับปลาขายและเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2546:154-164)
           นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีก เช่น การฆ่าตัดตอนปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปัญหาการค้าประเวณี การก่อการร้าย และความยากจนเป็นต้นยังเป็นปัญหาของสังคมไทยจนปัจจุบัน 
สิทธิ เป็นเสมือนทั้งเกราะในการคุ้มกันประชาชนให้พ้นจากภัยคุกคามของกำลังอิทธิพลและอำนาจที่ไม่ยุติธรรม และเป็นเสมือนกุญแจให้ประชาชนสามารถใช้ไขไปสู่ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ โดยในที่นี้จะเน้นเฉพาะสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองไว้ ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมถึงผลประโยชน์จากโอกาสและทางเลือกอันพึงมี พึงกระทำ และพึงได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ถูกโต้แย้งและขัดขวางโดยกฎหมาย องค์กรรัฐเจ้าหน้าที่รัฐ และคนอื่น ทั้งนี้โดยที่ประชาชนมีอิสระตามเสรีภาพในการใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงอิสระของตนเองหรือตามความสามารถในการตกลงใจของตนเองได้ด้วย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับกะเกณฑ์โดยอิทธิพลอย่างอื่น ทั้งนี้สามารถจำแนกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ออกได้เป็น 3 ส่วนดังนี้ คือ สาระสำคัญของสิทธิ พันธะของรัฐที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สาระสำคัญของสิทธิ ได้แก่


        1) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิ เสรีภาพ เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ความคิด จิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งถือเป็นสิทธิจะอยู่ จะเป็น หรือเป็นสิทธิที่ติดมากับตัวของประชาชนทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นคน และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนด้วยการกระทำที่เป็นการล่วงล้ำเกิน คุกคาม หรือละเมิดได้ เช่น การไม่ถูกลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การมีเสรีภาพในเคหสถานส่วนตัว เสรีภาพการเดินทาง การนับถือศาสนา การสื่อสาร คมนาคม การแสดงความคิดเห็น การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และการเลือกถิ่นที่อยู่ เป็นต้น (ตามมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 28) ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะอยู่ จะเป็น หรือ เป็นสิทธิที่ติดมากับตัวประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่เป็นส่วนควบติดอยู่กับความเป็นคนตามธรรมชาติ โดยที่ทุกคนมีอยู่เหมือนกัน รัฐไม่อาจเข้าไปแทรกแซงให้เกิดความแตกต่าง หรือ สูญสิ้นสิทธิอันเป็นเสมือนองค์ประกอบของชีวิต จิตใจ และร่างกายนั้นได้ ดังนั้น สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิของคนที่ห้ามไม่ให้รัฐกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ
        
         2) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นพลเมือง เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการที่สามารถเรียกร้องความต้องการขั้นพื้นฐานจากรัฐในฐานะที่เป็นราษฎรของรัฐได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้การสนองตอบในรูปของบริการสาธารณะ ถือเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ จะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองหรือเป็นราษฎรของรัฐ โดยที่รัฐไม่อาจจะปฎิเสธความรับผิดชอบหรือความช่วยเหลือด้วยการเพิกเฉยไม่กระทำการตอบสนองตามความเรียกร้องต้องการของประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองได้ เช่น
                - สิทธิในการรับการศึกษา (ตามมาตรา 43)
                - สิทธิของผู้บริโภค
                - เสรีภาพในการชุมนุม
                - เสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะ
                - สิทธิการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐ
                - เสรีภาพการจัดตั้งพรรคการเมือง
                - สิทธิการรับบริการสาธารณสุข
                - สิทธิการฟ้องหน่วยราชการ
                - สิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐ
                - สิทธิคัดค้านการเลือกตั้ง
                - สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น
                - สิทธิการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
         ทั้งนี้ ในการใช้สิทธิเสนอกฎหมายนั้นมีขอบเขตจำกัดเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพตามหมวด 3 และเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามหมวด 5 เท่านั้น เป็นต้น
         ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ หรือจะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองของรัฐ เพราะเป็นสิทธิที่ขึ้นอยู่กับความเป็นพลเมืองของรัฐ โดยที่การได้รับความยุติธรรมจากการใช้สิทธิสำคัญกว่าการได้รับประโยชน์จากสิทธิที่เท่ากัน เช่น พลเมืองที่เด็กได้รับสิทธิการศึกษาภาคบังคับฟรี แต่พลเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่พลเมืองที่ด้อยโอกาสจะได้รับสิทธิการสงเคราะห์จากรัฐ ทั้งที่คนปกติทั่วไปไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
         ดังนั้นสิทธิเสรีภาพในความเป็นพลเมืองจึงเป็นสิทธิของพลเมืองที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์เท่ากัน แต่หากเป็นสิทธิอะไรของใครก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบในการสนองตอบต่อการใช้สิทธินั้น กล่าวคือ พลเมืองที่เป็นเด็กย่อมสามารถเรียกร้องการศึกษาฟรีในภาคบังคับจากรัฐได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ก็ย่อมสามารถเรียกร้องการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงเป็นสิทธิที่สงวนไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้ประชาชน หรือบังคับให้รัฐจะต้องกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นปฏิฐานกับรัฐ

        3) สิทธิในความเสมอภาค เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันจากรัฐ หรือการไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่การเลือกปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียเปรียบ ผู้ด้อยโอกาส ได้รับสิทธิโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน (มาตรา 30) โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นกลาง หรือความเป็นธรรมด้วยการละเลยเพิกเฉยไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย หรือ หยิบยื่นโอกาสอันพึงมีพึงได้ให้กับประชาชนได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะความแตกต่างตามธรรมชาติ และเพราะการกระทำหรือละเว้นการกระทำของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น
                -การเสมอกันในกฎหมาย
                - การไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน
                - การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
                - การได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ และ
                - สิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
        ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่ช่วยชดเชย ความแตกต่างตามธรรมชาติของคนให้ได้รับโอกาสและศักยภาพใหม่เพิ่มขึ้น โดยที่รัฐเป็นฝ่ายช่วยเสริมสร้างหรือเกื้อหนุนให้มีความเสมอเหมือนกัน โดยที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ที่เท่ากันจากการได้รับสิทธินั้น เช่น คนทั่วไปย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกันในการขอแจ้งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหรือร่ำรวยได้เท่าเทียมกันจากการประกอบธุรกิจนั้น
         ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่รัฐให้หลักประกันในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐไม่ต้องผูกพันว่าทุกคนจะต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้สิทธินั้นให้ได้เท่ากันเสมอไป
         ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่กำหนดให้รัฐดำรงฐานะของความเป็นคนกลางในการถือดุลย์ระหว่างความแตกต่างกันตามธรรมชาติของคนกับความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและการปฏิบัติของรัฐเพื่ออุดช่องว่างไม่ให้ความแตกต่างนั้นเป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขของความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม แต่ประโยชน์จากความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องสร้างต่อขึ้นมาให้ตัวเองในภายหลังหรือไปหาเอาได้ข้างหน้า เมื่อรัฐได้ช่วยสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้แล้ว ซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นพันธะของรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น