วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทบาทและความสำคัญของสถาบันศาสนา

บทบาทและความสำคัญของสถาบันศาสนา
สถาบันทางพระพุทธศาสนาของเราเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในการให้ความช่วยเหลือต่อสังคมไทยตลอดมา โดยมีส่วนช่วยในการกล่อมเกลาจิตใจ และลักษณะนิสัยของคนไทย ตลอดจนการให้บริการตามความจำเป็น ตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาทางสังคมให้แก่เรามาแล้วเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในปัจจุบัน ความสำคัญในประการดังกล่าวก็คงมีอยู่ พระภิกษุสงฆ์กับวัดยังต้องรับภาระหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมและทางราชการของเราอยู่ตลอดไป สถาบันแห่งนี้จึงอำนวยประโยชน์เกื้อกูลต่อการปกครองและการบริหารของไทยอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชนแถบชนบท ที่ยังรับบริการจากรัฐบาลได้ไม่ทั่วถึงนัก ซึ่งมีจำนวนเกือบ ๙๐ เปอร์เซ็น กล่าวได้ว่า หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญของวัฒนธรรมไทย ดังจะเห็นว่า เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตประจำวันเกือบทั้งหมดของคนไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่าสถาบันพระพุทธศาสนามีส่วนช่วยเหลือทางราชการ และช่วยแก้ปัญหาให้แก่ทางสังคมของเราอย่างไรบ้าง

ความสำคัญของวัดต่อสังคม
ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ประเทศไทยมีวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจำนวนมากมีนักเขียนท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า   "การที่ได้เห็นวัดกับพระเจดีย์ตามรายทางโดยไม่มีที่สิ้นสุด แสดงให้เห็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของประชาชน" นอกจากนั้นชุมชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นชุมชนเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณร้อยละ ๙๐ ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่มีอยู่ในเขตเทศบาลหรือสุขาภิบาลซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่น ในประเทศไทยจึงมีชุมชนส่วนใหญ่ที่มีหมู่บ้านเห็นหน่วยหลัก และมักจะมีวัดตั้งอยู่ใจกลางราษฎรในหมู่บ้านจึงมีวัดเป็นทั้งแหล่งกลางสำหรับการสมาคมหรือการดำเนินชีวิตทางสังคม และเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ชีวิตในชนบทจะดำเนินอยู่รอบ ๆ วัด เพราะประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง วัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่อยู่เหนือจิตใจของชาวไทยอยู่มาก และนับได้ว่าเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในหมู่บ้านที่รองไปจากครอบครัวทีเดียว ความนับถือของประชาชนที่มีต่อสถาบันนี้ จำนวนเงินที่พุทธศาสนิกชนใช้ไปในการทำบุญประมาณร้อยละ ๗ ถึงร้อยละ ๘๔ ของรายจ่ายภายในครอบครัวทั้งสิ้น สำหรับหน้าที่และความสำคัญของวัดนั้น นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมหรือทำพิธีทางศาสนาแล้ว วัดยังทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
๑. เป็นแหล่งหรือศูนย์กลางของชุมชน
๒. เป็นโรงเรียน
๓. เป็นสถานที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา และการปลอบใจ
๔. เป็นสถานพยาบาลและสถานจ่ายยา
๕. เป็นสถานสงเคราะห์และที่พักพิงสำหรับผู้ยากจน คนชรา และเด็กกำพร้า
๖. เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นศูนย์กลางการเล่นกีฬา
๗. เป็นที่ทำการธุรกิจ
๘. เป็นแหล่งจ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ให้แก่ประชาชน
๙. เป็นแหล่งข่าวหรือศูนย์รวมข่าว
๑๐. เป็นฌานปนกิจสถานและเป็นที่เก็บศพ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่า วัดจึงเป็นหน่วยงานสวัสดิการใหญ่ที่สุดในชนบท ที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆของครอบครัว ของชุมชน และของสังคมในส่วนรวมได้เป็นอย่างดี มีแต่ในตัวเมืองเท่านั้นที่การช่วยเหลือของวัดลดความสำคัญลง เนื่องจากเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในเขตชุมชนหนาแน่น วัดในพระพุทธศาสนาจึงแบ่งเบาภาระในกาให้บริการของรัฐบาลไปได้มาก ทั้งยังก่อให้เกิดรากฐานอันมั่นคง และเสริมสร้างต่อบริการในด้านสวัสดิการของรัฐอีกด้วย นอกนั้นวัดยังเป็นรากฐานสำคัญของศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัดเป้ฯสถาบันและสัญลักษณ์ วัดจึงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่มาก

บทบาทและความสำคัญของพระภิกษุสงฆ์
ในสมัยก่อนผู้ชายไทยเกือบทุกคนจะต้องบวชเป็นพระภิกษุอย่างน้อยที่สุดก็เป็นเวลา ๒ ถึง ๓ เดือน
เพื่อให้เกิดกุศลกรรมแก่ตัวเองหรือผู้มีพระคุณ และเพื่อศึกษาหลักธรรมของพระพุทธองค์ ในชนบทปัจจุบัน
ผู้ชายไทยจะผ่านการบวชเรียนมาแล้วร้อยละ ๕๐ ถึงร้อยละ ๕๕  จากการสำรวจความคิดเห็นและความเชื่อถือของชาวบ้านในเรื่องวิธีการได้บุญ ปรากฏผลตามลำดับความสำคัญดังนี้ คือ
๑) บวชเป็นพระภิกษุ
๒) บริจาคเงินสร้างวัดตามสมควร
๓) มีบุตรได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
๔) เดินทางไปนมัสการสถูปเจดีย์ทั่วประเทศ
๕) บริจาคเงินซ่อมแซมวัด
๖) ทำบุญตักบาตรและถวายอาหารแก่พระภิกษุเป็นประจำ
๗) บวชเณร
๘) เข้าวัดถือศีล ๕ เป็นประจำ
๙) บริจาคเงินและจีวรในวานทอดกฐิน
แสดงให้เห็นว่า การบวชเป็นพระภิกษุเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และแสดงให้เห็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เหนือจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวไทยส่วนมากด้วย การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น ย่อมได้รับการยกย่องนับถือเหนือกว่าการมีความมั่งคั่ง หรือการมีอำนาจใด ๆ ทั้งยังได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีเกียรติที่สุดในสังคมชนบททั้งนี้มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัว หากเป็นเพราะพระภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
ทำให้เป็นแบบฉบับอันดีงามในทางศีลธรรมจรรยาของสังคม จากการสำรวจเกี่ยวกับชุมชนแห่งหนึ่ง
dr. konrad kingshill ได้รายงานผลการสำรวจของเขาไว้ตอนหนึ่งว่า

ส่วนมากพระภิกษุสงฆ์จะอยู่ในฐานะเป็นผู้นำชุมชนทั้งในด้านศาสนาและในด้านฆราวาส
จากการสำรวจเกียรติภูมิของชนชั้นนำในชนบท พระภิกษุสงฆ์จะได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับสูงสุด มีวัดแห่งหนึ่งที่เจ้าอาวาสมีบทบาทเป็นผู้นำในการดำเนินชีวิตของชาวชนบทมากและเป็นสื่อกลางในการพัฒนาหมู่บ้านขึ้นเป็นชุมชนใหม่ เจ้าอาวาสดังกล่าวเป็นผู้สร้างโรงเรียน และเป็นผู้ลงมือทำงานเองด้วย
โดยที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท จึงทำให้ประชาชนได้มีโอกาสมาร่วมชุมนุมกัน ณ สถานที่ดังกล่าว ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน ณ ที่นี้ พิธีกรรมทางศาสนามักจะดำเนินร่วมไปกับกิจการทางสังคมด้วยเสมอ ย่อมเป็นการยากที่จะจำแนกบทบาทของพระภิกษุสงฆ์ในสังคมชนบท
เพราะตามปกติแล้วพระภิกษุสงฆ์จะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกมากนัก แต่เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชนบท ทั้งในทางโลกและในทางธรรม มักจะผสมปนเปกัน บรรดาพระภิกษุสงฆ์จึงต้องมายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในทางโลกอยู่เสมอ เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุด ชาวบ้านจึงมักจะมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ด้วย ในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ พระภิกษุสงฆ์นับเป็นบุคคลแรกที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาหารือและปลอบใจ พระภิกษุสงฆ์จึงมีอิทธิพลต่อการกระตุ้น หรือแนะนำให้เกิดกิจกรรมในทางสังคม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้มาก ดังที่ blanchard กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า
"…พระภิกษุสงฆ์นับเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพนับถือจากสังคมและใกล้ชิดกับจิตใจของประชาชนมากว่ารัฐบาล พระภิกษุสงฆ์นับเป็นแบบฉบับขั้นอุดมคติในด้านวัฒนธรรมทางจิตใจของคนไทย เจ้าอาวาสทั้งโดยฐานะตำแหน่งและโดยบุคลิกส่วนตัวจะเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือและเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น"
สำหรับลักษณะแห่งการช่วยเหลือของฝ่ายสงฆ์ที่มีต่อชุมชนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับบุคลิกของเจ้าอาวาสเป็นสำคัญ ถ้าท่านเป็นผู้ที่กระตือรือร้น ความเกี่ยวข้องระหว่างวัดกับชุมชนก็มีมาก แต่ถ้าท่านถือว่าเป็นพระภิกษุที่หมดกิเลสไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลกเสียแล้ว พระภิกษุอื่น ๆ ก็อาจจะลดความเอาใจใส่ต่อความต้องการหรือความจำเป็นต่าง ๆ ของชุมชนลงไปบ้าง ในเรื่องของบทบาทและความสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ก็คือที่มีต่อสังคมนั้น อาจกล่าวได้ว่า มีความเกี่ยวพันกับความสำคัญและหน้าที่ของวัดดังที่กล่าวมาแล้วนั้นข้างต้น ในที่นี้ จะขอกล่าวเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเพราะสถาบันทั้งสอง คือวัดกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก

สำหรับหน้าที่หลักของพระภิกษุสงฆ์ ก็คือการศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม ส่วนหน้าที่ที่มีต่อสังคมก็นับว่ามีอยู่หลายประการ กล่าวคือ นอกจากจะมีหน้าที่ดำเนินกิจกรรมบางอย่างของวัดแล้วพระภิกษุสงฆ์ยังมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนหลักธรรมให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตามและอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
ยิ่งกว่านั้นพระภิกษุสงฆ์ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย

บรรดาเจ้าอาวาสและพระภิกษุอาวุโสยังอาจทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา อนุญาโตตุลาการ หรือ ผู้รักษาคนป่วยไข้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจิตใจ ฯลฯ ที่สำคัญคือ ในระยะหลังนี้ทางราชการได้เห็นความสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ ในลักษณะที่จะเชิญชวนให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมของเรามากขึ้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า
พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ได้รับการเคารพยกย่องให้มีเกียรติที่สุดในสังคมในฐานะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมโดยเคร่งครัด เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านศีลธรรมและจริยธรรมทั่วไป จึงได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมาก
พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของราษฎรในชนบท เป็นครูสอนหนังสือมาแต่สมัยโบราณ เป็นที่ปรับทุกข์ เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้ไกล่เกลี่ยคดีความและเป็นผู้ประกอบพิธีทางศาสนาในทุกวงจรชีวิตของชาวบ้าน และในพิธีการของทางราชการ ฉะนั้น พระภิกษุสงฆ์จึงมีส่วนช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้แก่สังคมอยู่ไม่น้อย แม้แต่การพัฒนาชุมชน พระภิกษุสงฆ์ก็มีส่วนชักจูงราษฎรให้ร่วมมือด้วย เพราะได้รับการยกย่องนับถือในฐานะที่มีความรอบรู้ในกิจการเกือบทุกด้าน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระภิกษุสงฆ์จะบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำชุมชน และเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ซึ่งรวมถึงการสร้างวัด สร้างบ่อน้ำ สะพาน ศาลาประชาคม บางทีก็ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมงาน หรือเป็นผู้กระทำตนเป็นตัวอย่างด้วยการออกแรงทำสิ่งต่าง ๆ พระภิกษุสงฆ์จึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนพอ ๆกับผู้ใหญ่บ้านและครู เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ของพระภิกษุสงฆ์ที่มีต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย
แต่เราจะเห็นคุณค่าละความสำคัญของสถาบันทั้งสองคือวัดและพระภิกษุสงฆ์มากยิ่งขึ้นเมื่อได้พิจารณาถึงคุณค่าของสถาบันพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาอบรม และบทบาทในการช่วยเหลือเยาวชน
และการเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจในตอนต่อไป ตามลำดับ

คุณค่าของสถาบันพระพุทธศาสนา
ในด้านการศึกษาอบรม  
ในสมัยก่อนสถาบันพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันแห่งแรกที่ให้การศึกษาแก่คนไทย การศึกษาของเราเริ่มต้นจากที่วัด โดยเฉพาะในด้านจริยศึกษา แม้ในปัจจุบันความสำคัญในด้านนี้ก็ยังมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมทำนุบำรุงการศาสนา ก็เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจและเป็นสถาบันอบรมศีลธรรมอันดีงามให้แก่ประประชาชน ในที่นี้จะได้ชี้ให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาเบื้องต้น จริยศึกษา และคุณค่าของการบวชเรียน ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เหนือจิตใจของคนไทยโดยแจ้งชัดยิ่งขึ้น

๑. สถาบันพระพุทธศาสนากับการปูพื้นฐานการศึกษาให้กับคนไทย
            นับแต่โบราณมา วัดเป็นสถาบันแห่งเดียวที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยโดยส่วนรวม
การศึกษาจะกระทำกันในโรงเรียนวัด โดยมีพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้านเป็นผู้จัดการศึกษาและเป็นครูเด็กผู้ชายจะถูกส่งไปเป็นศิษย์วัดหรือสามเณร เพื่อเรียนการอ่าน การเขียน และเรียนวิชาเลขคณิตอย่างง่าย ๆ รวมทั้งรับการอบรมทางศีลธรรม และหลักธรรมของศาสนา ทำให้เด็กผู้ชายส่วนมากอ่านออกเขียนได้ และมีความรู้ในด้านจริยธรรมของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติของตนเองและของครอบครัว แสดงให้เห็นการที่เราต้องพึ่งพาอาศัยวัดในด้านนี้มาโดยตลอด รัฐบาลเพิ่งจะยื่นมือเข้าไปจัดการในด้านการศึกษาของประชาชนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๑๔ นี้เอง โดยมีการตั้งโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยในพระบรมมหาราชวัง และออกประกาศให้วัดเปิดการสอนแก่เด็ก ๆ ในท้องที่ของตน แผนการศึกษาสมัยใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของระบบการศึกษาดังกล่าวนี้ การมีพระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอน กับการมีสถานที่ภายในวัดเพียงพอแก่การจัดชั้นเรียน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยทำให้สามารถจัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ยังขาดทุนรอนสำหรับจัดหาอาคารใหม่ ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นต้นมา จึงมีโรงเรียนเกิดขึ้นตามวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่าง ๆ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้  "วิชาหนังสือไทยรุ่งเรืองแพร่หลายเป็นคุณแก่ราชการ และเป็นความเจริญแก่บ้านเมืองยิ่งขึ้น"
ความยุ่งยากอันเนื่องมาจากการขาดแคลนเงินทุน และขาดครูที่เหมาะสมในสมัยนั้นย่อมมีอยู่มาก
แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่มีบรรดาพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ได้เข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นครูสอนในโรงเรียนประถมศึกษาอยู่ในช่วงนั้นใน พ.ศ. ๒๔๓๕ มีการตั้งโรงเรียนชั้นมูลศึกษาขึ้นในวัด ทั้งในกรุงและในหัวเมือง โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการให้พระภิกษุสงฆ์ได้ทำการสอนบรรดาศิษย์ทั้งหลายในวัดของท่าน
การศึกษาของไทยในระยะต่อมา ได้เปลี่ยนแปลงไปตามโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า
หลักสูตรจะขึ้นต้นด้วยจรรยา แล้วเดินตามแนวแผนการศึกษาของญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ในระยะนั้น
คณะสงฆ์ได้มีส่วนเหลือให้เกิดการขยายการศึกษาตามหัวเมืองได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ก็เป็นไปตามนโยบายที่ว่า "ให้พระภิกษุสงฆ์สั่งสอนกุลบุตร ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติและมีความรู้" โดยที่พระภิกษุสงฆ์จะได้รับการขอร้องให้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของฝ่ายโรงเรียน เกี่ยวกับเรื่องการตั้งโรงเรียนภายในวัด และรับหน้าที่เป็นครูเท่าที่พอจะทำได้ นับได้ว่าพระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลนคูได้ดีที่สุด
คณะสงฆ์จึงมีบทบาทสำคัญในการขยายการศึกษาตามหัวเมืองต่าง ๆ ของไทยในระยะแรก ๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับประเพณีดั้งเดิมที่เด็ก ๆ ได้อาศัยเรียนหนังสือกันอยู่ใสวัดนั่นเอง ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ใช้บังคับแก่เด็กอายุระหว่าง ๗ ถึง ๑๔ ปีให้เข้าโรงเรียน โดยมีผลใช้บังคับทั่วประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ นั้น จำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นจา ๒๔๑,๕๐๘ คน เป็น ๗๘๘,๘๔๖ คน ทำให้จำเป็นต้องมีการดัดแปบงศาลาวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนพัน ๆ แห่งให้เป็นโรงเรียนประชาบาลขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๔๗๔ มีโรงเรียนที่ดำเนินการโดยวัดเป็นจำนวนถึง ๔,๖๘๘ แห่ง หรือร้อยละ ๘๕.๖ และมีโรงเรียนชั้นประถม มัธยมที่อยู่ในบริเวณวัด ๔,๙๑๑ โรง หรือร้อยละ ๗๑.๓ ในช่วงแห่งการขยายตัวของการศึกษาดังกล่าว พระภิกษุสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นผู้จัดการศึกษาและเป็นครูสอนหนังสือ แต่อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ๆ นี้พระภิกษุสงฆ์ได้เริ่มลดบทบาทในการทำหน้าที่สอนในโรงเรียนลง เนื่องจากรัฐบาลสามารถช่วยตนเองได้มากขึ้นแล้ว หลังจาก พ.ศ. ๒๔๗๔ มาแล้ว จำนวนโรงเรียนวัดเริ่มลดลง เมื่อท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถสร้างโรงเรียนใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ทันกับความต้องการที่เรียนของนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ยังมีโรงเรียนถึง ๑,๕๔๓ แห่ง ที่คณะสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการและถึงแม้ว่าใน พ.ศ. ๒๔๘๒ จะได้มีโรงเรียนรัฐบาลเป็นจำนวน ๔๒๙ แห่ง โรงเรียนประชาบาลจำนวน ๑๐,๗๖๘ แห่ง โรงเรียนเทศบาลจำนวน ๓๐๔ แห่ง และโรงเรียนราษฎร์จำนวน ๑,๓๐๘ แห่ง แต่ในต่างจังหวัดส่วนมาก โรงเรียนเหล่านี้ก็ยังอยู่ในบริเวณวัดอยู่นั่นเอง ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ นักเรียนทั้งสิ้นมีจำนวนถึง ๔,๐๔๐,๖๐๙ คน แต่ในปีนั้นก็ยังมีโรงเรียนที่อยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนถึง ๑๐,๕๘๒ แห่ง ในจำนวนโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมทั้งสิ้น ๒๕,๓๓ โรง แสดงให้เห็นว่า พระภิกษุสงฆ์และวัดได้มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาของคนไทย และของสังคมในส่วนรวมก่อนที่รัฐบาลจะได้ยื่นมือเข้าไปจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน วัดได้เป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการศึกษาของเรามาเป็นเวลานาน  มิฉะนั้นแล้วคนไทยส่วนมาก็อาจจะเป็นผู้ไม่รู้หนังสือก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุสงฆ์และวัดได้มีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนครุและสถานที่เรียน และช่วยทำให้โครงการศึกษาของชาติสามารถบรรลุผลสำเร็จได้
สิ่งดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นบทบาทและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระพุทธศาสนากับประชาชนชาวไทย แม้ในเรื่องของการศึกษา เราก็ต้องพึ่งพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามเราย่อมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนี้ยิ่งขึ้น เมื่อได้พิจารณาถึงความสำคัญของการศึกษาในด้านจริยธรรมต่อไป

๒. ความสำคัญของศาสนาในด้านการศึกษาจริยธรรม การศึกษาในช่วงนี้มีความสัมพันธ์กับที่ได้พิจารณาแล้วในข้อ ๑ โดยตรง กล่าวคือ พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ให้การศึกษาในด้านจริยธรรม หรือศีลธรรม แก่เยาวชนไทย ตามหลักพระพุทธศาสนา ควบคู่กับการสอนหนังสือของท่านโดยตลอดมา การส่งเด็กผู้ชายไปเป็นศิษย์วัด หรือเป็นสามเณร ซึ่งการะทำกันจนเป็นประเพณีมานาน ถือว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ได้รับความเลื่อมใสและกลายเป็นสมาชิกที่ได้รับการยกย่องจากชุมชนขึ้นมา การกระทำดังกล่าวนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้เด็กผู้ชายไทยเป็นจำนวนมากอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังช่วยทำให้บุคคลเหล่านั้นได้มีโอกาสรับการอบรมสั่งสอนในด้านศีลธรรมและหลักธรรมทางศาสนาด้วย ดังได้กล่าวมาแล้ว แม้เมื่อทางราชการได้ยื่นมือเข้าจัดการการศึกษาของประชาชนแล้วก็ตามบรรดาพระภิกษุสงฆ์ก็ยังมีส่วนเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้สอนเยาวชนในโรงเรียนวัดอยู่อีก จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่หน้าที่อันสำคัญเช่นนั้นได้เปลี่ยนไปอยู่ในความรับผิดชอบของทางรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่อยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก เราจะมองเห็นความสำคัญของการศึกษาอบรมในด้านจริยธรรมได้จากการจัดหลักสูตรการศึกษา ตามโครงการการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่เน้นในเรื่องจรรยาดังได้กล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้นใน พ.ศ. ๒๔๗๒ กระทรวงธรรมการยังได้ประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาขึ้นพื้นฐานโดยให้มีการสอนเกี่ยวกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาขึ้นในโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมด และให้นักเรียนได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เพื่ออบรมให้เด็ก ๆ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งในด้านวุฒิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา สำหรับในด้านจริยศึกษาส่วนมากเป็นเรื่องหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๓ กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มกำหนดให้โรงเรียนต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนราษฎร์ใช้หนังสือเรียนในหลักสูตรจริยศึกษา สำหรับชั้นประถมและมัธยม การสอนวิชาศีลธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ หลักธรรม หรือคำสอนจากพระไตรปิฎก แบบเรียนชกุดพระพุทธศาสนาคงมีลักษณะเดียวกับที่เคยสอนกันอยู่ในโรงเรียนวัดสมัยก่อนบางทีก็มีการสอนหรือจัดให้มีการประกอบพิธีทางศาสนาด้วย ซึ่งอาจจะกระทำกันเป็นประจำทุกวันทุกสัปดาห์ หรือเป็นครั้งคราว การศึกษาอย่างมีระเบียบวิธีเช่นนี้ ทำให้เด็กนักเรียนมีความสำนึกในการเป็นพุทธศาสนิกชนมากยิ่งขึ้นนอกจากนั้นวรรณคดี ศิลปะหรือวัฒนธรรมส่วนมาก ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นบทบาทและความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในชีวิตจิตใจและความคิดคำนึงของคนไทยเป็นอันมาก การศึกษาในด้านจริยธรรมจะมีผลต่อการมีศีลธรรม และการประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามของคนไทยอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามเราจะมาองเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อได้พิจารณาถึงคุณค่าของประเพณีการบวชเรียน
ซึ่งเป็นกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางศาสนา มาสู่การประพฤติปฏิบัติโดยส่วนรวมของเรา

๓. ความสำคัญและคุณค่าของประเพณีการบวชเรียน ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าสมัยก่อนคนไทยศึกษากันที่วัด นอกจากจะได้รับความรู้จากการศึกษาอบรมในเรื่องหลักธรรมทางศาสนาแล้ว จะเป็นการเตรียมตัวของตนเองสำหรับการอุปสมบทที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย การศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นการศึกษาสำคัญที่สุดของชาติ

การอุปสมบทย่อมมีส่วนช่วยทำให้กุลบุตรมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น
เพราะมีวัดแห่งเดียวที่เป็นสถาบันการศึกษาสิ่งนี้นับเป็นมูลเหตุจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายไทยนิยมการอุปสมบท เป็นประเพณีทั่วไป เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จะต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เพราะถือว่าการบวชนั้น นอกจากจะทำให้ได้บุญแล้ว ยังทำให้มีโอกาสได้ร่ำเรียน มีความรอบรู้ยิ่งขึ้น การบวชเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงการบวชเรียนไว้ว่า ….ในสมัยกรุงศรีอยุธยา การที่บวชเรียนถือเป็นประเพณีว่าผู้ชายทุกคนควรจะต้องบวช
เป็นเหตุให้มีพระภิกษุสงฆ์มากมายขึ้นหลายเท่าอีกประการหนึ่ง เมื่อประเพณีการบวชเรียนแพร่หลาย ย่อมมีผู้บวชแต่ชั่วคราว โดยมากถือเอาการศึกษาเป็นสำคัญของการบวช การเล่าเรียนจึงได้เจริญขึ้นตามวัด วัดจึงได้เป็นที่ศึกษาสถาน
การศึกษาในทางหลักธรรมมีความก้าวหน้าเรื่อยมาตามลำดับ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ มีหลักสูตรนักธรรมของทั้งฝ่ายสงฆ์กับฝ่ายฆราวาส และหลักสูตรการเปรียญ ในปัจจุบันมีโรงเรียนสงฆ์ขั้นมหาวิทยาลัยสองแห่งตั้งขึ้นใน พ.ศ.๒๔๘๙ และ พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้มีโอกาสได้เรียนธรรมศึกษาและรับฟังธรรมจากวัด ย่อมจะได้รับการอบรมจิตใจให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีเป็นส่วนใหญ่การบวชเรียนนั้น นอกจากจะช่วยทำให้พระภิกษุสงฆ์ หรือผู้ผ่านการบวชเรียนได้รับการกล่อมเกลาให้เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม จนเป็นที่ได้รับการเคารพนับถือของสังคมทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีส่วนช่วยทำให้บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด มีความคิดสุขุมรอบคอบยิ่งขึ้น เมื่อสึกออกมาก็มักจะเป็นผู้ที่ครองชีวิตได้ดี มีเหตุผล และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่บวชในขณะมีอายุเริ่มเข้าสู่วัยของการบรรลุนิติภาวะ ซึ่งเป็นระยะเริ่มเปลี่ยนจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ทำอะไรก็มักจะมีความคิดรุนแรงและวู่วาม ถ้าผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ก็จะไร้รับการขัดเกลานิสัยจิตใจ และมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับควบคุมตัวเอง ด้วยเหตุนี้ประเพณีโบราณจึงถือการบวชเรียนของฝ่ายชายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแต่งงานด้วย
กล่าวคือผู้ชายจะต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ประเพณีการบวชเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการศึกษาหลักธรรมนี้ นับว่ามีความสำคัญทั้งในส่วนที่เป็นองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาข้าราชการ และประชาชน แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ทางราชการลาบวชได้เป็นจำนวนถึง ๑๒๐ วัน และการที่ยังมีประเพณีที่ผู้ชายไทยยังนิยมการบวชอยู่ ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ ๕๐ ถึงร้อยละ ๕๕

การออกผนวชขององค์พระมหากษัตริย์
นอกจากจะทรงเป็นตัวอย่างและก่อให้เกิดราชประเพณีอันดีงาม ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำของพุทธศาสนิกชน อันทำให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่บรรดาพสกนิการทั่วไปแล้ว ยังมีส่วนช่วยทำให้ทรงได้มีโอกาสศึกษา และมีส่วนร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงในบวรพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยทำให้ฝ่ายราชบัลลังก์กับฝ่ายคณะสงฆ์ได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย สำหรับข้าราชการในสมัยก่อน การบวชเรียนถือว่ามีความสำคัญมาก ในบาสมัย บุตรหลานข้าราชการคนใดที่จะถวายตัวทำข้าราชการ ถ้ายังไม่ได้บวชก็ไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางหรือให้รับราชการแม้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปรับปรุงการบริหาราชการแผ่นดินอย่างขนานใหญ่
ยังปรากฏว่ามีบรรดาผู้ยานการบวชเรียนทั้งหลายเข้ามาสมัครรับราชการและประสบความก้าวหน้าในตำแหน่งราชการเป็นจำนวนไม่น้อย ในปัจจุบัน ผู้ผ่านการศึกษาอบรมในหลักสูตรนักธรรม หรือในชั้นเปรียญ ก็ยังอาจได้รับการยอมรับว่า มีคุณวุฒิเหมาะสมสำหรับการเข้าทำงานหรือการประกอบอาชีบางอย่าง ผู้นำหรือหัวหน้าชุมชน ซึ่งได้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลสำคัญอื่น ๆ ส่วนมากจะผ่านการบวชเรียนมาแล้ว หรืออย่างน้อยก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับกิจการศาสนาพอสมควร ทำให้มีเกียรติภูมิสูง เมื่อจะพูดอะไรก็มีน้ำหนัก และได้รับการเชื่อถือจากผู้อื่น ในทำนองเดียวกัน ข้าราชการที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว อาจมีส่วนช่วยให้เป็นผู้ประพฤติตนเป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ และทำชั่วน้อยลง เพราะในการบวชนั้น
นอกจากจะเป็นการถือปฏิบัติกันตามประเพณีของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นที่เชื่อกันว่าจะเป็นการทำตนให้เป็นคนดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของข้าราชการ ทางราชการจึงให้ข้าราชการลาบวชได้ด้วยเหตุนี้
คนไทยจึงได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยการอบรมสั่งสอนจากระบบการศึกษาและการสอนจริยธรรมในโรงเรียนหรือวัด และโดยการบวชเรียนดังกล่าวแล้ว ยิ่งกว่านั้นพุทธศาสนิกชนไทยทั่วไปย่อมจะได้รับอิทธิพลแห่งหลักธรรมของศาสนานี้โดยตรง หรือโดยทางอ้อม ทั้งนี้ไม่ว่าจะจากการรับฟังพระธรรมเทศนา จากการซึมซาบโดยผ่านทางสื่อมวลชน จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือจากการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระพุทธศาสนากับการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยอีกด้วย
จากการพิจารณาในเรื่องความสำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาจริยธรรม และในด้านประเพณีการบวชเรียน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามีบทบาท และความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นต่อชีวิตจิตใจและการพฤติปฏิบัติของคนไทยเป็นอันมาก จากกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ย่อมจะมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า
พระพุทธศาสนาได้มีส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างรากฐานทางวัฒนธรรมในด้านจิตใจให้แก่คนไทยโดยตรงอยู่เพียงใด

บทบาทในด้านการช่วยเหลือเยาวชนและการเป็นที่พึ่งทางใจ
ในตอนต้นได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของวัดและพระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนคุณค่าในด้านการศึกษาที่มีต่อสังคมไทยมาแล้ว สำหรับในที่นี้จะได้ชี้ให้เห็นบทบาทของสถาบันพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมอีก ๒ ประการ คือ

๑. บทบาทในการช่วยเหลือเยาวชน
นับเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว ที่วัดได้ให้ความอุปการะแก่เยาวชน ด้วยการให้การศึกษา การอบรมสั่งสอน ให้ที่อยู่อาศัย และให้อาหารการกิน เด็ก ๆ ที่อยู่ในวัดจะรู้สึกมีความอบอุ่น และมีความสุข เหมือนกับอยู่บ้านหรือครอบครัวของตน โดยที่เด็กเหล่านั้นจะต้องช่วยเหลือและเป็นธุระให้แก่พระภิกษุสงฆ์เป็นการตอบแทนตามสมควร วัดจึงเปรียบเสมือนสถานอบรมเด็ก ที่สามารถจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เด็กได้ดีเท่า ๆ กับครอบครัวของเขาเอง ทั้งอาจทำหน้าที่ได้ดีกว่า สำหรับเรื่องการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศีลธรรมจรรยา การมีสถาบันการศึกษาอยู่ที่วัดแห่งเดียวในสมัยก่อน ทำให้คอบครัวต่าง ๆ นิยมส่งบุตรหลานของตนไปเป็นศิษย์วัดกันมาก พระภิกษุสงฆ์ย่อมจะเป็นผู้มีความรอบรู้ มีความชำนาญในหลาย ๆ ด้านเช่น ช่างไม้ จักสาน และการเยียวยารักษาโรค ฯลฯ เด็กวัดจะได้รับการสอนวิชาชีพเหล่านั้นจากพระภิกษุสงฆ์ที่ตนอยู่ด้วย เด็กเหล่านั้นอาจเป็นญาติของพระภิกษุสงฆ์ บางคนอาจเป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา หรือมีครอบครัวอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนวัด แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปบ้าง เนื่องจากรัฐบาลได้ยื่นมือเข้าดำเนินการศึกษาของชาติ และทางวัดต้องมุ่งเน้นในด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรมากขึ้นตามนโยบายของกรมการศาสนา และเด็กวัดต้องไปเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล ศิษย์วัดมักจะเป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง ๑๐ ถึง ๑๖ ปี บิดามารดาเป็นจำนวนไม่น้อยจะถือกันว่าการส่งบุตรหลานไปเป็นศิษย์วัดชั่วระยะเวลาหนึ่งนั้น ย่อมจะช่วยยกฐานะของเด็กให้ดีขึ้น เด็ก ๆ จะได้รับการอบรมให้ถือศีลเท่า ๆ กับคนธรรมดาทั่วไป คือ ถือศีล ๕ และได้รับการขัดเกลาให้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ในบางกรณีจะต้องเข้าร่วมพิธีทางศาสนากับพระภิกษุสามเณรด้วย จากผลการสำรวจปรากฏว่า มูลเหตุจูงใจที่ชาวชนบทส่งบุตรหลายของตนไปเป็นศิษย์วัดก็คือ
๑. ครอบครัวไม่สามารถให้การดูแลหรือเลี้ยงดูเด็ก
๒. ต้องการให้ได้บุญ
๓. ต้องการให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม


บางครอบครัวให้เหตุผลว่า ทำให้เกิดความหวังได้ว่าบุตรหลานของตนจะได้บวชเมื่อถึงเวลาอันควร แต่ปัจจุบัน การใช้วิธีนี้ได้ลดลงน้อยมาก บางทีเด็กส่วนมากใช้วัดเป็นเพียงที่พักอาศัย
สำหรับการเล่าเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร มีเด็กหนุ่มจำนวนนับร้อยหรือบางทีอาจเป็นจำนวนนับพัน ที่พำนักอยู่ในวัด ซึ่งมีทั้งนักเรียนโรงเรียนมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลับ ฯลฯ เด็กเหล่านี้มีทั้งประเภทที่อาศัยอาหารของวัดด้วย หรือต้องการเพียงที่พำนักเพียงอย่างเดียว จึงนับได้ว่าวัดและพระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือแก้ปัญหาทางครอบครัว และช่วยในการศึกษาของชาติด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า
วัดและพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นสถาบันที่มีส่วนให้การช่วยเหลือเยาวชนของชาติในด้านการศึกษา รวมทั้งเป็นสถานอบรมเลี้ยงดูเด็กผู้ชายไทย มาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ยากจน ขาดคนอุปการะ กำพร้าบิดามารดา บางครอบครัวถึงกับส่งบุตรหลานไปเป็นศิษย์วัดก็เพื่อให้เด็กมีอาหารประจำวันรับประทาน และเป็นการลดภาระของครอบครัว นักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาห่างไกลย่อมได้ที่พักอาศัยและอาหารพอสมควร ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
จึงนับได้ว่า สถาบันพระพุทธศาสนาได้มีส่วนในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ของสังคมได้มาก
ความผูกพันของวัดและพระภิกษุสงฆ์ที่มีต่อเยาวชนของไทยในลักษณะนี้ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้พระพุทธศาสนาได้มีโอกาสซึมซาบเข้าไปในความรู้สึกนึกคิด และการประพฤติปฏิบัติของพวกเขาอยู่มาก และจะติดตัวอยู่ต่อไปเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น