โลกสิ่งแวดล้อม
เตรียมรับมือกับ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming)
องค์การวิทยาศาสตร์ระดับชาติของสหรัฐอเมริกา (National Academy of Science) ได้คาดการณ์ว่า อุณหภูมิของ
โลกร้อนขึ้น 1- 2°F ในทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมๆ กับมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสภาวะที่โลกจะร้อนขึ้นเพิ่มมากขึ้น มีหลักฐานที่ชัดเจนคือว่าใน 50 ปีที่ผ่านมา สาเหตุของโลกร้อนขึ้นและจะร้อนขึ้นอีกเรื่อย ๆ นั้น เกิดมาจากการกระทำของมนุษย์ องค์ประกอบที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ และองค์การดังกล่าวยังบอกอีกว่า โลกร้อนขึ้นเป็นการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่อยู่รอบตัวเรา ได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากมาย เช่น การล่มสลายของระบบนิเวศน์วิทยา น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง โรคติดต่อ ฯลฯ จุดเริ่มต้นโลกร้อนขึ้นมาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่เป็นปิโตรเลียม หรือการเผาสารที่เป็นฟอสซิล (fossil)
มีหน่วยงานจำนวนมากของสหรัฐ ที่ทำการศึกษาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เช่น สภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (National Resource Defense Council: NRDC) คณะกรรมการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ (intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติ ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูเขา เพื่อต้องการทราบความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ได้พบข้อเท็จจริงว่า โลกมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นจริง ทำให้เกิดคำถามจากผู้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ ผู้นำด้านธุรกิจ หรือแม้แต่นักการเมือง จำนวนมากว่า โลกร้อนขึ้นมีความสำคัญแค่ไหน ? เราจะหยุดมันได้อย่างไร แล้วจักรวาลเราจะร้อนไปด้วยหรือไม่ ?
สภาวะอากาศ (Weather) คืออะไร
สภาวะอากาศ คือ เงื่อนไขหรือสถานภาพของภูมิอากาศ เช่น ร้อน หนาว ชื้น แห้งแล้ง ลมสงบ มีพายุ มีเมฆหมอก
หรือฟ้าโปร่งใส และยังรวมถึง ลมฟ้า พายุหมุน พายุหิมะ(blizzard) เป็นต้น
ฤดูกาล (climate) คือ สภาวะอากาศแต่ละเดือน แต่ละช่วง เช่น เดือน ปี สิบปี หรือทศวรรษ ในทางเทคนิค ฤดูกาลก็เป็นการให้คำจำกัดความ เสมือนเป็นเงือนไขที่เป็นผลมาจากสถานภาพโดยรวมของสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบกับพื้นดิน ทะเล ในระยะเวลาหนึ่ง และสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติของการคาดการณ์จากค่าเฉลี่ย สภาวะอากาศ หรือฤดูกาลอันเป็นปกติ
เรื่องราวของโลกร้อนนั้น แบ่งหัวข้อออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ
ส่วนแรก เป็นการศึกษาว่า โลกร้อนขึ้นคืออะไร รวมถึงภาวะเรือนกระจก ระดับของโอโซน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากมากในการหาข้อเท็จจริงได้ถูกต้อง
ส่วนที่สอง จะศึกษาว่าโลกร้อนขึ้นได้อย่างไร เป็นการศึกษาด้วยวิธีการหลายๆ รูปแบบ โดยการใช้ดาวเทียมสำรวจสิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การวัดระดับน้ำฝน การวัดอุณหภูมิของอากาศ และการใช้ข้อมูลของการศึกษาบรรยากาศ จากการศึกษาบรรยากาศในอดีต โดยเรียกวิธีการศึกษานี้ว่า Paleoclimatology
ส่วนที่สาม จะศึกษาเรื่องของบรรยากาศ อากาศ ชั้นบรรยากาศย้อนหลัง(Paleoclimatology) และการใช้หลักวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจต่อโลกและสภาวะที่โลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศมาก่อน
อะไร คือ สาเหตุของโลกร้อน
มีหลายเหตุผล ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานของสาเหตุโลกร้อนขึ้น เช่น ภาวะเรือนกระจก ทฤษฎีของลินเซน และการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก (CFCs)
1. ภาวะเรือนกระจก (green house effect)
แนวคิดภาวะเรือนกระจก มีสาเหตุมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือประมาณปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา การเผาไหม้ของเครื่องจักรและโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน โรงไฟฟ้า ฯลฯ มีผลทำให้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (EPA) กล่าวว่าในปัจจุบันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ไนตรัสออกไซด์ ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้ว บรรยากาศของโลกถูกควบคุมให้สมดุลด้วยพลังงานของดวงอาทิตย์กับชั้นบรรยากาศของโลกเอง แต่การทะลุทะลวงเข้ามาของรังสีอินฟราเรดจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์(stratosphere) ที่มีอากาศโอโซน(ozone) ถึงร้อยละ 90 เป็นกำแพงขวางกั้นอยู่ และถูกดูดซึมซับไว้อยู่บนผิวบรรยากาศโลกชั้นที่ต่ำสุดที่เราอาศัยอยู่ (โทรโปสเฟียร์ troposphere) มีผลทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นและมีผลให้เกิดความไร้สมดุลเหมือนเช่นในอดีต รูปของพลังงานจากรังสีอินฟราเรดดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ได้กล่าวว่า ตัวทำลายโอโซนของโลกเราอย่างมากก็คือ สารเคมีที่มีองค์ประกอบของ คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือ สารซีเอฟซี นั่นเอง (chlorofluorocarbons – CFC) นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า โลกของเราถูกห่อหุ้มไว้ด้วยก๊าซโอโซนมานาน และก๊าซโอโซนก็เป็นเสมือนกำแพงป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ได้อย่างดี แต่ในปัจจุบัน จากการใช้ดาวเทียม NOAA-14 สำรวจและสร้างเป็นแบบจำลอง พบว่าชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ที่มีโอโซนอยู่จำนวนมาก เกิดช่องโหว่ในบางแห่ง ให้เกิดสาร CFC ขึ้นไปทำลายโอโซน และก็ทำให้รังสีอัลตราทะลุเข้ามาในชั้นบรรยากาศล่างสุดของโลกเรา และเมื่อรังสีฯเข้ามาแต่ออกไม่ได้ และก็ยิ่งทำให้โลกเราร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่ก๊าซอันเป็นสาเหตุของการกระจายภาวะเรือนกระจก การระเหยของน้ำ รวมถึง คาร์บอนไดออกไซด์ เมฆ หมอก หรือแม้แต่ฝุ่นละอองเล็กๆ ก็เป็นเหตุให้รังสีอินฟราเรด ตกหลุมความร้อนเข้ามาในส่วนที่ต่ำกว่าของบรรยากาศโลก และแพร่กระจายออกไป รวมๆ แล้วเราเรียกว่า ภาวะเรือนกระจก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ถ้าไม่มีภาวะเรือนกระจกอุณหภูมิของผิวโลกเราก็จะประมาณ 34 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่าในปัจจุบันนี้
2. ทฤษฎีของลินเซน ( Lindzen’s Theory)
ริชาร์ด ลินเซน (Richard Lindzen) นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิจัยทางบรรยากาศโลก ชาวสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า เมฆถูกทำให้อุ่นขึ้นเพราะการเพิ่มมากขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยลักษณะดังกล่าวก็จะทำให้ความชื้นของบรรยากาศลดลง และก็ทำให้ผิวบรรยากาศโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น
3. โรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์
การแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลทำให้เป็นสภาวะของก๊าซกรีนเฮาส์ เป็นสาเหตุของอุณหภูมิมีระดับสูงขึ้น ทำให้มีการระเหยของน้ำ และก็เป็นสาเหตุลำดับถัดมาของอุณหภูมิสูงมากขึ้น
ผลกระทบของโลกร้อนขึ้น
ผลจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นั้นจะส่งผลอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ จำนวนมาก ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ต่อบรรยากาศและอุณหภูมิทั่วไป กล่าวคือ อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้น้ำแข็งที่อยู่ตามขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะในเขตกรีนแลนด์ (Greenland) ละลายกลายเป็นน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำทะเลมีมากขึ้น หรือทำให้มีภูเขาน้ำแข็งลอยอยู่ทั่วไปหรือมีเพิ่มมากขึ้นในทะเล ผลดังกล่าวยังทำให้ชายฝั่งมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัญหาหนึ่งที่จะตามมาคือ เมื่อใดก็ตามที่มีพายุชายฝั่ง ก็จะทำให้น้ำทะเลท่วมชายฝั่งได้ง่าย ในบางแห่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาระหว่าง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น 4-10 นิ้ว (10-25 เซนติเมตร) และยังกล่าวอีกว่า ประมาณปี ค.ศ.2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 8 นิ้ว หรือ ประมาณ 20 เซนติเมตร
ลองคิดดูว่าถ้าเป็นจริงตามการคาดการณ์ดังกล่าว พื้นที่ที่มีระดับพื้นดินที่ต่ำอย่างเช่น จังหวัดสมุทรปราการ จะเป็นอย่างไร นั่นหมายถึงว่า ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลมีตามมาอย่างแน่นอน มีหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (United Stated Environment Protection Agency: EPA) ได้กล่าวเตือนไว้ว่า อีกประมาณ 50 ปี ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศที่มีความล่อแหลมในอันตรายกับประชาชนจากการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลคือ ประเทศบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ไทย แกมเบีย มัลดีฟส์ โมซัมบิก เซเนกอล อียิปต์ และ เซอรินัม
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของระบบนิเวศน์ ยังได้ส่งผลต่อการเกษตร มีผลให้มีการวางแผนการเกษตรการใช้ทรัพยากรน้ำ พื้นที่บางแห่งจะกลายเป็นที่รกร้างและทำการเพระปลูกไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่าโลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อน้ำอุปโภค บริโภค และอาหารของมนุษย์อย่างแน่นอน
สถานการณ์ที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้
มีการกล่าวกันว่า สภาวะดังกล่าวทำให้ยากต่อการคาดการณ์สถานการณ์ของบรรยากาศ เช่น เมืองต่างๆ สามารถเกิด
ฝนตกและทำให้น้ำท่วมอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือเมืองต่างๆ มีความแห้งแล้งไม่มีแม้แต่น้ำค้าง และเกิดภาวะแห้งแล้ง จนทำให้ต้องอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ปรากฏการณ์ เอลนิลโย และลานิลญา
ผลกระทบต่อสุขภาพ
มีการทดลองด้วยการจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาถึงกระทบต่อการร้อนขึ้นของโลกพบว่า มีความเป็นจริง ถ้า
อุณหภูมิสูงขึ้น จะมีผลต่อสภาวะความจำของคนเรา กล่าวคือทำให้เกิดสภาวะหลงลืม ถ้าไม่มีวิธีการรักษาสถานะภาพความเย็นไว้ นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า เขตละติจูดซึ่งก็คือ แถวประเทศไทยเรานี้ ประมาณปี ค.ศ. 2100 เวลากลางวัน อุณหภูมิจะสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ในบางแห่งความร้อนดังกล่าวอาจมีมาควบคู่กับจำนวนตัวเลขคนตาย และความร้อนที่อยู่นานๆ ตามเขตเมือง ก็จะทำให้ หมอก ควัน แพร่กระจัดกระจายไปทั่ว สภาวะดังกล่าวก็จะนำมาซึ่งอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
กล่าวได้ว่า โลกร้อนขึ้นมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างยิ่ง ทั้งความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำการเกษตร โรคขาดสารอาหาร โรคระบาด รวมถึงการเกิดขึ้นใหม่ของโรคบางชนิดที่คาดไม่ถึง
การเคลื่อนย้ายของโรคเขตร้อน
โลกร้อนขึ้น ทำให้จำนวนของแมลงที่นำโรคในเขตร้อนตาย แต่จะมีจำนวนมากขึ้นในเขตหนาว และก็นำมาซึ่งแมลง
ของนำโรคในเขตหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุง (กลุ่มยุงรำคาญ ประเภท Culex Pipiens) ซึ่งก่อให้เกิดโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้เหลือง และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการกล่าวกันว่า ไข้มาลาเรียกับไข้เลือดออกจะสามารถแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในช่วงระยะเวลาเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี โดยสามารถแพร่กระจายครอบคลุมจากปัจจุบันร้อยละ 45 ของประชากรโลก เป็นร้อยละ 60 ของประชากรโลกในอนาคต
นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า สาหร่ายน้ำชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Algal Blooms จะมีปรากฏขึ้นโดยเฉพาะในเขตที่มีน้ำเสียในเขตหนาว ซึ่งการเกิดขึ้นของปัจจัยดังกล่าวจะนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เห็นได้บ่อยระหว่างความสัมพันธ์ของอหิวาตกโรคกับ Algal Blooms
เมื่อถึงสภาวการณ์เช่นนั้นจริง เราก็อาจจะเห็นโครงการควบคุมยุงในอเมริกา ยุโรป ที่ไม่ต่างจากบ้านเรากำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ สำหรับประเทศไทยลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ นั่นคือ ยุงและแมลงอันเป็นพาหะของโรค จะมีปริมาณมากในเขตหนาว โรคของเขตร้อนจะเลื่อนไปอยู่ในเขตที่หนาวกว่า เพราะบริเวณนี้จะอุ่นขึ้น โรคที่เราพบในภาคกลางในปริมาณมาก ๆ เราก็จะพบโรคในเขตภาคเหนือ หรือพื้นที่ๆมีอากาศเย็นกว่ามากขึ้น
แนวโน้มในอนาคตต่อโลกร้อน
บทสรุปขององค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (EPA) มีความชัดเจนมากต่อปัญหาของโลกร้อน โดยกล่าวว่า
โลกร้อนขึ้นเป็นจริง ในช่วงหลัง 140 ปีที่ผ่านมา และยังได้กล่าวอีกว่า ในช่วงทศวรรษ ปี ค.ศ. 1990 และศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่ร้อนที่สุด เมื่อเทียบกับ 600 ปีที่แล้ว มีคำถามต่อว่า แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าโลกร้อนขึ้น รวมถึงคำถามอื่นๆ เช่น
· แล้วจะมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีกเท่าไร ?
· อนาคตอุณหภูมิจะสูงเท่าไร ?
· จะเร็วแค่ไหน ที่โลกเราจะร้อนขึ้นอีก ?
· นอกจากฤดูกาลเปลี่ยนแปลง มีอะไรอีก ?
คำถาม และการคาดการณ์ต่างๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่สามารถจะให้คำตอบได้ว่าจะเกิดเร็วเท่าไร กิจกรรมของมนุษย์จะต้องมีเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำอย่างกระทันหัน การพยายามปกป้องไม่ให้โลกร้อนไม่สามารถทำได้อย่างทันทีทันใด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีปัจจัยจำนวนมากที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อนขึ้น จนในปัจจุบันอาจจะทำให้เสียสมดุลของโลกเราไปแล้วก็ได้ และถ้าถึงวันที่โลกร้อนสุดๆ จริง ปัจจัยต่างๆ ที่เสี่ยงต่อสุขภาพก็อาจจะยากที่จะเยียวยาแก้ไข ซึ่งจะส่งผลตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งทางด้านสุขภาพ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ
การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนมาก อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก หรือญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศที่มีป่าไม้จำนวนมาก แต่ก็เป็นเรื่องเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ที่ในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ที่ท่าทีของผู้นำประเทศอย่างสหรัฐ เฉยเมย และปฏิเสธต่อมาตราการลดสาเหตุที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น เห็นได้จาก การไม่สนใจต่อสนธิสัญญาเกียวโต ( Kyoto Protocal: 1997) ซึ่งเป็นการลงนามร่วมกันครั้งแรกที่จะหามาตรการลดสภาวะเรือนกระจก ของนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักวิชาการด้านบรรยากาศ และนักอุตุนิยมวิทยา จำนวนถึง 15,000 คนทั่วโลก เห็นร่วมกันในมาตรการลดการเดินเครื่องโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก ซ้ำยังมีการกล่าวโต้กันไปมาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ถึงประเทศต้นเหตุ
ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกร้อนจะรุนแรงขึ้นเท่าไรก็ตาม ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยเราไม่อาจจะแก้ไขอะไรได้มาก นอกจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือในการลดสาร CFC หรือปกป้องโอโซน แต่ก็หวังไว้ว่า คงจะไม่เป็นสถานการณ์แบบ ”วัวหายแล้วล้อมคอก” เป็นแน่
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น