วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในท้องถิ่นไทย

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในท้องถิ่นไทย

ดร.อังคณา  บุญสิทธิ์
สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ  กรมคุมประพฤติ  กระทรวงยุติธรรม
anna@probation.go.th

           เมื่อพูดถึง กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”  หลายคนมักคิดถึงภาพที่ผู้คนที่มีความขัดแย้งกันมานั่งพูดจากัน  หาทางออกด้วยกัน  โดยมีคนกลาง (mediator) นั่งอยู่ด้วย  หลายคนกล่าวว่า  ถ้าเช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็มีอยู่แล้วในสังคมไทย  เรามีสภาผู้เฒ่า”  ”เจ้าโคตรในภาคอีสาน  เรามี แก่บ้านในภาคเหนือ  เรามีผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ทั่วไปในสังคมไทยที่ช่วยระงับข้อพิพาทในชุมชน  หลายท่านเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แบบไทยๆ”  ผู้เขียนจึงตั้งประเด็นคำถามให้คิดเล่นๆว่า  หากมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แบบไทยๆ  ก็ต้องมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แบบฝรั่ง  จีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี ฯลฯ มากมายหลายแบบ  ถ้าเช่นนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไรกันแน่

           กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice practice) เป็นวิธีการที่อยู่ในกระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice paradigm) ซึ่งเป็นหลักสากล  วิธีการภายใต้กระบวนทัศน์นี้  สามารถทำได้ทั้งเรื่องการระงับข้อพิพาท  การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด  และการป้องกันอาชญากรรมแบบยุติธรรมชุมชน  แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่ทำเพื่อการใด  หรือใช้รูปแบบใดก็ตาม  ประเด็นสำคัญคือวิธีการหรือรูปแบบนั้นๆ ต้องตั้งอยู่บนหลักการต่อไปนี้

           1. ความรัก  ความเมตตา  ความเอื้ออาทรที่มนุษย์พึงมีต่อกัน  ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะใช้ได้  และใช้ได้ดี  เมื่อผู้ใช้มีความคิดในเชิงบวก  มุ่งที่จะแก้ไข และ/หรือ ป้องกันปัญหา  ด้วยการใช้สติและปัญญา  ด้วยความมีเมตตา  ความเอื้ออาทรต่อกัน

           2. การยอมรับอย่างให้เกียรติ (respect) ของความแตกต่างหลากหลาย  การดำเนินการภายใต้กระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด  และเพื่อการใด  ก็ต้องดำเนินการอย่างให้เกียรติและยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์  ทั้งในฐานะที่เป็นปัจเจก  และความแตกต่างทางสังคม  วัฒนธรรม  ชาติพันธุ์  และถิ่นที่อยู่ตามภูมิศาสตร์  เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน  และหลักประชาธิปไตย

           3. หลักประชาธิปไตย  การหาทางแก้ปัญหา  การระงับความขัดแย้ง  การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม/ปัญหาสังคม  ต้องยึดหลักประชาธิปไตยที่ฟังเสียงส่วนมากและไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย  ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักการนี้ในกระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือ  การระงับข้อพิพาทของชาวเมารีที่เรารู้จักกันดีในชื่อ การประชุมกลุ่มครอบครัว” (family group conferencing)  ประเด็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาคือ  มีอะไรในวิถีชีวิตของชาวเมารีที่ทำให้การระงับข้อพิพาทของเขาได้รับความสนใจและยอมรับกันว่าเป็นวิธีการในวิถีทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  ในสังคมเมารีนั้น  การปรึกษา, การขอความเห็น (consultation) เป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆของแวดวงชาวเมารี  แนวคิดเรื่องนี้คือการฟังเสียงทุกเสียงและฟังความในใจของคนทุกคน  ในวิถีชีวิตของชาวเมารี  การที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อแสดงความเห็นหรืออภิปรายเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ  การที่ผู้คนเหล่านั้นได้บอกกล่าวแง่คิดหรือมุมมองของตนในการแก้ปัญหาต่างๆถือเป็นการสร้างเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้แก่ตนเอง

            ดังนั้น  การขอความคิดเห็นและรับฟังความต้องการของผู้อื่นนี้ถูกปลูกฝังอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเมารี  และวิธีการนี้ใช้กันมากในครอบครัว  ในกลุ่มพี่น้อง  วิถีชีวิตของเมารีปลูกฝังให้ฟังผู้อื่น  รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นทั้งเรื่องดีและไม่ดี  ไม่มีความลับกันระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน  ด้วยวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตเช่นนี้  เด็กชาวเมารีจึงถูกฝึกให้พูด  ถูกฝึกให้ฟัง  ถูกฝึกให้ได้ยินหรือรับรู้ความต้องการของผู้อื่น  มีการบอกกล่าว  พูดคุย  ปรึกษาหารือ  ให้ความเห็น  รับฟังความเห็นซึ่งกันและกันอยู่เสมอ  ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากการเรียนรู้ทางสังคมแบบนี้  ก็เป็นคนที่รู้จักพูด  รู้จักฟัง  ฟังอย่างให้เกียรติ (respect) ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน   แม้แต่เสียงของเด็กก็ต้องรับฟังอย่างให้เกียรติและมีคุณค่า  สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้  ก็ต่อเมื่อทุกคนในกลุ่มคิดและรู้สึกเหมือนๆกันว่า  ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์  ไม่มีความแตกต่างของเพศ  วัย  ฐานะทางเศรษฐกิจ  สถานภาพทางสังคม ฯลฯ
 
           การระงับข้อพิพาทในความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice approach) คือ การที่ให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดหาทางออกร่วมกัน  โดยคนกลางหรือ mediator มีหน้าที่ในการช่วยเหลือให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันและหาทางออกร่วมกันอย่างเสมอภาค  มีหน้าที่ในการเสริมพลัง (empowerment) ให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักรู้ในความต้องการที่แท้จริงของตน  สามารถใช้สิทธิในการพูด การฟัง การออกความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน    การวิจัยเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับวัฒนธรรมการระงับข้อพิพาทในท้องถิ่นไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการระงับข้อพิพาทในท้องถิ่น  เพื่อศึกษาบริบทสังคมที่ทำให้วัฒนธรรมการระงับข้อพิพาทในท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่  และเพื่อเปรียบเทียบแนวคิด  หลักการ  และวิธีการปฏิบัติของวัฒนธรรมการระงับข้อพิพาทในท้องถิ่นไทยกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บข้อมูลจากชุมชนรวมทั้งสิ้น  6 ชุมชน คือ (1)ชุมชนบดินทรเดชา  แขวงวังทองหลาง  เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร (2) บ้านเขาย่า  อำเภอศรีบรรพต  จังหวัดพัทลุง  (3) บ้านตะโหมด  อำเภอตะโหมด  จังหวัดพัทลุง  (4) บ้านฟ้าฮ่าม  ตำบลน้ำบ่อหลวง  อำเภอสันป่าตอง  จังหวัดเชียงใหม่  (5) บ้านสระแก้ว  อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา  และ (6) อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน  ได้แก่  พระสงฆ์  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล  ปราชญ์ชาวบ้าน  ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือและเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆของชุมชน  และชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น  จากการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) พบว่า  มีการใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อการป้องกันปัญหาอาชญากรรม/ ปัญหาสังคมในท้องถิ่นไทย  กล่าวคือ  การที่ชุมชนชนบททั้งในชุมชนที่เป็นสังคมเครือญาติ  ชุมชนที่เกิดจากการอพยพของคนหลายกลุ่มมาอยู่ร่วมกัน  ชุมชนที่อยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรม  และชุมชนวัฒนธรรมเดียว  มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในรูปแบบที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมชุมชน”  ก็เพราะมีการรวมตัวกันได้ดี  มีการร่วมกันคิดร่วมกันทำในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆของชุมชน  มีการร่วมกันสร้างกติกาชุมชน  ทั้งโดยการหยิบยกปัญหาของชุมชน  แล้วมาระดมสมองหาทางแก้ปัญหาโดยการสร้างกติกาชุมชนร่วมกัน  โดยใช้หลักประชาธิปไตย  ความเสมอภาค  การทำงานร่วมกัน  และการอยู่ร่วมกันอย่างบูรณาการ  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในการดำเนินการ

           คำพูดที่ว่า เป็นคนบ้านเดียวกัน”  “พวกเดียวกัน”  “เด็กๆในหมู่บ้านก็เป็นลูกหลานของเรา”  ทำให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยความนุ่มนวล  ทำด้วยความเมตตาต่อกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ  อะไรที่ทำให้ชุมชนมีการรวมตัวกันได้ดี   ผู้วิจัยวิเคราะห์โดยใช้ทุนทางสังคมไทยในแนวคิดระบบอุปถัมภ์ใน 2 ระดับคือ

            (1) ความสัมพันธ์ระดับครอบครัวหรือความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องกตัญญูกตเวทีหรือบุญคุณ 
            (2) ความสัมพันธ์ระดับชุมชนและสังคม  เป็นความสัมพันธ์ของการพึ่งพาอาศัยกัน  ซึ่งมีทั้งหลักการตอบแทนกัน  ที่ถือว่าเป็นหลักการสร้างพันธะทางสังคมในการตอบแทนกัน  เป็นกลไกสร้างความร่วมมือเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และ หลักการใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นการใช้พื้นที่ส่วนรวมของชุมชนในด้านต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน  มีการจัดการร่วมกันของชุมชนโดยกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้พื้นที่อันถือเป็นของสมาชิกในชุมชน
การรวมตัวกันของชาวบ้านเกิดจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ
            (1) ความสัมพันธ์ระดับเครือญาติ  ที่แสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำในรูปของวัฒนธรรมหรือการทำกิจกรรมร่วมกัน  คำพูดที่ว่า เป็นคนบ้านเดียวกัน”  “พวกเดียวกัน”  “เด็กๆในหมู่บ้านก็เป็นลูกหลานของเรา”  ทำให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยความนุ่มนวล  ทำด้วยความเมตตาต่อกัน  ดังจะเห็นจากการจัดการปัญหาความประพฤติไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนของบ้านเขาย่า  ใช้วิธีการว่ากล่าวตักเตือน  ห้ามปราม  แกนนำชาวบ้าน, ครู, พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา  มีการดูแลแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำผิดด้วยเครือข่ายชุมชน  เป็นการดูแลให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างบูรณาการ  คือช่วยเหลือ  ดูแลทุกอย่างเพื่อให้ผู้กระทำผิดปรับพฤติกรรมได้  ในฐานะที่เขาเหล่านั้นเป็นเพื่อนมนุษย์  และ เป็นลูกหลานของเรา”   ความเป็นพวกเดียวกันนี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน  ตัวอย่างจากชุมชนบ้านตะโหมด  ที่มีทั้งชาวพุทธและมุสลิม ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเพราะมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน  ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ  ในวันที่ 15  เมษายนของทุกปี  ทั้งชาวพุทธและมุสลิมต่างก็ทำบุญให้บรรพบุรุษ  โดยพิธีทางศาสนาของตนในที่แห่งเดียวกัน  รับประทานอาหารร่วมกัน
           2)  ที่ทำให้มีการรวมตัวกันได้ดีคือ  การเห็นความจำเป็นและประโยชน์ร่วมกันในการจัดการกับปัญหาหรือป้องกันปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  ประเด็นที่น่าสนใจคือ  การที่ชุมชนมีเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดปัญหา และ/หรือ ภาวะวิกฤต  เช่น  มียาเสพติดในชุมชน  การที่ชุมชนมีทรัพยากร และ/หรือ ผลประโยชน์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเมื่อการจัดสรรไม่เป็นธรรมหรือไม่ทั่วถึง  วิกฤตเหล่านี้ทำให้ชุมชนมีการรวมตัวกัน  หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน  สร้างกติกาของชุมชนร่วมกันเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นด้วยวิถีทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์   กล่าวได้ว่า  ทุนทางสังคมของไทย  ระบบอุปถัมภ์ที่อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของคนทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน  ก่อให้เกิดความผูกพันกัน  ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน”  “คนบ้านเดียวกันมีการพึ่งพาอาศัย  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  นำมาซึ่ง ความไว้วางใจกัน”  รวมทั้งการเห็นประโยชน์ร่วมกันในการจัดการกับปัญหาหรือป้องกันปัญหา  เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวกัน  มีการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันในวิถีทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สำหรับการจัดการกับความขัดแย้งในชุมชนนั้น


 
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนมี 2 ลักษณะคือ  ความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในชุมชน  และความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ
           1. การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในชุมชนนั้น พบว่า  การระงับข้อพิพาทด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น  มักทำโดยผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย  แม้ว่าจะมีข้อดีที่ทำให้เรื่องจบไปได้   แต่บางครั้งคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่พอใจ  แต่ก็ต้องจำยอมรับคำตัดสินนั้นๆ แม้ว่าในบางชุมชนผู้ระงับข้อพิพาททำโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ก็เป็นการตัดสินความโดยผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทนั่นเอง
 
           2. การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดที่แตกต่างกัน  ในขณะที่รัฐยึดกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เขียนขึ้นโดยรัฐเป็นสำคัญ  แต่ชาวบ้านใช้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวิถีชีวิตในการใช้ที่ดินเป็นกรอบคิด  แนวคิดในการจัดการที่ดินเพื่อให้ชาวบ้านและรัฐอยู่ร่วมกันอย่างบูรณาการในวิถีทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นที่ปางมะผ้า  คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐหาทางแก้ปัญหา  โดยเริ่มต้นที่ความรักความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์  เรียนรู้  ทำความเข้าใจ  และยอมรับอย่างยกย่องให้เกียรติในวัฒนธรรมชนเผ่า  เป็นการยอมรับอย่างให้เกียรติในวิถีชีวิตของชาวบ้าน  ตระหนักรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นในการดำรงชีพในบริบททางสังคมนั้นๆ  การเริ่มต้นเช่นนี้นำไปสู่วิธีคิดและทำในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ  มีการทำข้อตกลง  ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน  ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันนั้น  เข้ามาด้วยการรับรู้ผลประโยชน์ที่ตนและชุมชนจะได้รับ  ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานของตนได้  ชาวบ้านก็มีที่ทำกิน  เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถพิทักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้
           การใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในรูปกระบวนการ  รูปแบบ  และโปรแกรมต่างๆต้องกระทำอย่างระมัดระวัง  ต้องทำความเข้าใจกระบวนทัศน์นี้อย่างถ่องแท้  ภายใต้กระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกัน  การยอมรับอย่างให้เกียรติ (respect) ในความแตกต่างหลากหลาย  การดำเนินการภายใต้กระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  ใช้หลักประชาธิปไตย  หลักความเสมอภาค  หลักการทำงานร่วมกัน  และหลักการอยู่ร่วมกันอย่างบูรณาการ  ดังนั้น กระบวนการใดๆภายใต้กระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงต้องปราศจากการใช้อำนาจเหนือ (domination)   สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความอาวุโส (seniority)  ซึ่งหมายรวมทั้งความอาวุโสในเรื่องอายุ  ชาติกำเนิด   สถานะทางสังคม  และอำนาจ (power)  การใช้กระบวนทัศน์ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทยจึงพึงระวังเรื่องโครงสร้างอำนาจ  การใช้อำนาจเหนือ  การครอบงำ  ความเกรงใจ  ที่จะทำให้เกิดการ จำยอม”  ไม่ใช่ยินยอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น