วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(National Human Rights Commission)
 เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว วาระละ 6 ปี
[แก้] อำนาจหน้าที่
1.             ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณี ระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำ หรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
2.             เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
3.             ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
4.             ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
5.             จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
6.             อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องคำนึงถึงผลผระโยชน์ส่วนรวมของชาติและของประชาชนประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจเรียกเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
[แก้] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2544-2552)
ชุดที่ 2 (พ.ศ. 2552-2558)

พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ .. 2542
                                                  ---------------

                                              ภูมิพลอดุลยเดช ป..
                                 ให้ไว้ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.. 2542
                                          เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
                    โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                    พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ
บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ
ยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                    มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ พ.. 2542"

                    มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                    *[รก.2542/118/1/25 พฤศจิกายน 2542]

                    มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้
                    "สิทธิมนุษยชน" หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความ
เสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ
ตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
                    "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                    "ประธานกรรมการ" หมายความว่า ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                    "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                    มาตรา 4  ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรักษาการตามพระราช
บัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                    ระเบียบและประกาศตามวรรคหนึ่งที่มีผลเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                                                     หมวด 1
                               คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                                                  ---------------

                    มาตรา 5  ให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำ
ของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่
ประจักษ์  ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนจากองค์การเอกชน
ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
                    ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธาน
กรรมการและกรรมการ

                    มาตรา 6  ประธานกรรมการและกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ
ต้องห้ามดังต่อไปนี้
                    (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
                    (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
                    (3)ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิก
สภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
                    (4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
                    (5) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                    (6) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
                    (7) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
                    (8) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
                    (9) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษ
มายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
                    (10) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือ
รัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่าง
ร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
                    (11) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
                    (12) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษา
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                    (13) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

                    มาตรา 7  ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
                    (1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
                    (2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการ
ส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
                    (3) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดย
มุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
                    เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) โดยได้รับความยินยอมของผู้นั้น
ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) แล้ว
ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด
ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการ
ใหม่แทน

                    มาตรา 8  การสรรหาและการเลือกกรรมการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                    (1) ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธาน
ศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ อธิการบดีหรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา
ที่เป็นนิติบุคคลแห่งละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิทธิ
มนุษยชนตามมาตรา 24 แห่งละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสิบคน ผู้แทนพรรคการเมือง
ทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน
ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเอง
กิจการละหนึ่งคนรวมเป็นสามคน และเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็น
เลขานุการ และให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่เหมาะสม
จะเป็นกรรมการตามมาตรา 5 จำนวนยี่สิบสองคน โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิง
และชายเสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น
รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ที่เหมาะสมกับการเป็น
กรรมการ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6  ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่
วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มติในการเสนอชื่อต้องมี
คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
                    (2) ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อ
ตาม (1) ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด และมีคะแนน
มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือก
เป็นกรรมการ แต่ถ้าไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการหรือมีผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการไม่ครบ
สิบเอ็ดคน ให้นำรายชื่อผู้ไม่ได้รับเลือกในคราวแรกนั้นมาให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนน
อีกครั้งหนึ่ง และในกรณีนี้ให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่
มีอยู่ของวุฒิสภา เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ถ้ามีผู้ได้คะแนนเสียงเท่ากันอันเป็นเหตุให้มี
ผู้ได้รับเลือกเกินสิบเอ็ดคน ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก ในกรณีที่ไม่มี
ผู้ใดได้รับเลือกเป็นกรรมการ หรือได้รับเลือกเป็นกรรมการไม่ครบสิบเอ็ดคน ให้คณะกรรมการ
สรรหาดำเนินการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลตาม (1) เพื่อเสนอวุฒิสภาลงมติเลือกใหม่
                    ให้ผู้ได้รับเลือกตาม (2) ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ และให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรง
แต่งตั้งต่อไป

                    มาตรา 9  กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง รวมทั้ง
ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
                    ให้กรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริต

                    มาตรา 10  กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์
ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
                    กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการ
ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
                    เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อสิ้นสุดวาระของกรรมการ
ชุดเดิม ให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการชุดใหม่ก่อนครบวาระของกรรมการชุดเดิมเป็น
ระยะเวลาหกสิบวัน

                    มาตรา 11  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของ
จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภา
มีมติให้ถอดถอนกรรมการออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึง
ผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หรือไม่เป็นกลางหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือ
บกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการ
ดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนได้เสียในกิจการ
หรือธุรกิจใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือก่อให้เกิดความเสียหายทำนองเดียวกัน หรือมี
หรือเคยมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง
                    มติของวุฒิสภาตามวรรคหนึ่งต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของ
จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

                    มาตรา 12  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ  กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                    (1) ตาย
                    (2) ลาออก
                    (3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6
                    (4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 7
                    (5) วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 11
                    (6) วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
                    เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และให้
ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน

                    มาตรา 13  เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 12 ให้เริ่มดำเนินการตาม
มาตรา 8 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีนี้ให้คณะกรรมการสรรหาจัดทำ
บัญชีรายชื่อบุคคลเป็นจำนวนสองเท่าของผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเสนอต่อประธานวุฒิสภา
                    ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งในระหว่างที่อยู่นอกสมัยประชุมของรัฐสภา
ให้ดำเนินการตามมาตรา 8 ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมของรัฐสภา

                    มาตรา 14  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า
กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ จึงเป็นองค์ประชุม
                    ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม
หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานใน
ที่ประชุม
                    ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานใน
ที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
                    ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้น
ไม่มีสิทธิเข้าประชุม

                    มาตรา 15  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    (1) ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ
และระหว่างประเทศ
                    (2) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่
ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำ
หรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ
ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
                    (3) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ
ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                    (4) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
                    (5) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การ
เอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
                    (6) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายใน
ประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยต่อสาธารณชน
                    (7) ประเมินผลและจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อรัฐสภา
                    (8) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าเป็น
ภาคีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                    (9) แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
                    (10) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นซึ่ง
กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

                    มาตรา 16  ให้ประธานกรรมการและกรรมการเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลา
โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์
และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
                    ให้อนุกรรมการได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ไปปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

                                                    หมวด 2
                          สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                                                  ---------------

                    มาตรา 17  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนราชการ
สังกัดรัฐสภา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ

                    มาตรา 18  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่รับผิดชอบ
เกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    (1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ
                    (2) รับคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการและ
ดำเนินการสืบสวนหรือตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องที่มีการยื่นคำร้องตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
                    (3) ศึกษาและสนับสนุนให้มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
                    (4) ประสานงานกับหน่วยราชการ องค์การเอกชน หรือองค์การอื่นในด้าน
สิทธิมนุษยชนในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                    (5) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

                    มาตรา 19  ให้ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น
ข้าราชการรัฐสภาสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
                    บรรดาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาให้เป็นอำนาจหน้าที่
ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้ประธานกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหาร
ราชการและการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภาและกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา

                    มาตรา 20  ให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีเลขาธิการ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนหนึ่ง รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นตรงต่อประธานกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชา
ข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยจะให้มีรองเลขาธิการ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้

                    มาตรา 21  ให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยความ
เห็นชอบของคณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านประธานรัฐสภาเพื่อเสนอ
ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระของ
คณะกรรมการไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี  ในการนี้ ถ้าประธานกรรมการร้องขอ คณะรัฐมนตรี
สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ อาจอนุญาตให้ประธานกรรมการหรือผู้ที่
ประธานกรรมการมอบหมายมาชี้แจงก็ได้

                                                     หมวด 3
                              การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                                                  ---------------

                    มาตรา 22  ในกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชนและมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง
เด็ดขาดแล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการการแก้ไขตามพระราช
บัญญัตินี้

                    มาตรา 23  บุคคลใดที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องโดยทำเป็นหนังสือ
และต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                    (1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องหรือผู้ทำการแทน
                    (2) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเป็นเหตุแห่งการกระทำหรือการละเลยการกระทำ
อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                    (3) ลายมือชื่อของผู้ร้องหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจาก
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง
                    การร้องเรียนด้วยวาจาให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
                    คำร้องให้ยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือส่งทาง
ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือจะยื่นต่อกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือองค์การเอกชนด้านสิทธิ
มนุษยชนเพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือด้วยวิธีการอื่นใด
ตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
                    เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติแจ้งผู้ร้องหรือผู้ทำการแทนโดยไม่ชักช้า  ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง

                    มาตรา 24  ในกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์การ
เอกชนด้านสิทธิมนุษยชน หรือในกรณีที่ปรากฏแก่องค์การเอกชนดังกล่าวว่ามีการกระทำหรือการ
ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนดังกล่าวได้พิจารณาเบื้องต้น
แล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการดำเนินการต่อไปได้
                    องค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตามวรรคหนึ่งต้องเป็นนิติบุคคลตาม
กฎหมายไทย ซึ่งมีการดำเนินกิจการเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ตามที่คณะกรรมการกำหนด และมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือมุ่งค้าหากำไรจากการ
ดำเนินกิจการดังกล่าว

                    มาตรา 25  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบการละเมิด
สิทธิมนุษยชนในกรณีใด หรือในกรณีที่คณะกรรมการได้รับคำร้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตามมาตรา 23 หรือได้รับเรื่องจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 24 และเห็นว่า
กรณีดังกล่าวมีมูลและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการแจ้งไปยังบุคคล
หรือหน่วยงานที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบุคคลหรือหน่วยงานที่คณะกรรมการ
เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้บุคคลหรือหน่วยงานนั้นชี้แจงข้อเท็จจริง
ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ในการแจ้งดังกล่าวให้คณะกรรมการสรุปรายละเอียด
ข้อเท็จจริงให้เพียงพอแก่การชี้แจงได้โดยถูกต้องครบถ้วนด้วย
                    ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องที่รับมาไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ
คณะกรรมการหรือไม่รับไว้พิจารณา ให้แจ้งผู้ร้องหรือองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ส่ง
เรื่องทราบโดยไม่ชักช้า และเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจะส่งเรื่องต่อไปให้
บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนั้นดำเนินการแก้ไขตามที่เห็นสมควรต่อไปก็ได้
                    ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องที่รับมาควรได้รับการพิจารณาแก้ไขโดย
องค์กรอื่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการอาจส่งเรื่องให้องค์กรนั้นพิจารณาได้ไม่ว่าเรื่อง
ดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการในขั้นตอนใด  ในการนี้ คณะกรรมการ
อาจมีหนังสือสอบถามผลการดำเนินการไปยังองค์กรนั้นได้ และหากปรากฏว่าองค์กรนั้น
ยังมิได้ดำเนินการเป็นประการใดหรือไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา คณะกรรมการอาจรับ
เรื่องกลับไปพิจารณาหากเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการได้
                    ในการส่งเรื่องให้องค์กรอื่นพิจารณาหรือการรับเรื่องกลับไปพิจารณาตาม
วรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้ร้องหรือองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ส่งเรื่องทราบ
โดยไม่ชักช้าด้วย

                    มาตรา 26  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการชี้แจงข้อเท็จจริงตามมาตรา 25
วรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยต้อง
ให้โอกาสผู้ร้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงรายละเอียด และเสนอพยานหลักฐาน
ตามสมควรเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่มีการอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                    ในการพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามวรรคหนึ่ง หากคู่กรณี
ต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการ คู่กรณีมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามา
ในกระบวนการพิจารณาตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
                    ในการพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอาจแต่งตั้ง
คณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อทำหน้าที่สืบสวนและสอบสวนข้อเท็จจริง รับฟัง
คำชี้แจงและพยานหลักฐาน และจัดทำรายงานตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเสนอต่อ
คณะกรรมการได้  ในการนี้ ให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ เว้นแต่
คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
                    ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอาจแต่งตั้ง
พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานก็ได้

                    มาตรา 27  ในระหว่างการพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ
คณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าอาจดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการ
ไกล่เกลี่ยบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คู่กรณีทำความตกลงเพื่อประนีประนอมและ
แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าปรากฏว่าคู่กรณียินยอมตกลงเพื่อประนีประนอมและ
แก้ไขปัญหาและคณะกรรมการเห็นว่าการตกลงนั้นอยู่ในกรอบของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้คณะกรรมการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างคู่กรณีเป็นหนังสือไว้และให้ยุติเรื่อง
                    ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการในภายหลังว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตาม
ข้อตกลงเป็นหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามอำนาจ
หน้าที่ต่อไป

                    มาตรา 28  ภายใต้บังคับมาตรา 27  เมื่อคณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบ
เสร็จสิ้นแล้ว หากคณะกรรมการเห็นว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบซึ่งต้องระบุรายละเอียดข้อเท็จจริง
ที่เกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุผลที่มีความเห็นดังกล่าว และมาตรการ
การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งต้องกำหนดให้ชัดแจ้งว่าบุคคลหรือหน่วยงานใด
มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องใดและด้วยวิธีการอย่างไร รวมทั้งระยะเวลาในการ
ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว
                    ในการกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามวรรคหนึ่ง
คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลหรือหน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่
เห็นเหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะทำนองเดียวกันอีกก็ได้
                    ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวไม่เป็น
การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสมควรแก่การแก้ไขเยียวยาความ
เสียหายให้กับผู้ถูกกระทำเช่นว่านั้น คณะกรรมการอาจกำหนดแนวทางการแก้ไขเพื่อแจ้งให้
บุคคลหรือหน่วยงานดำเนินการตามความเหมาะสมภายใต้อำนาจหน้าที่ของบุคคลหรือ
หน่วยงานนั้นได้
                    ให้คณะกรรมการแจ้งรายงานผลการตรวจสอบไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่มี
หน้าที่ต้องดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบโดยเร็ว และในกรณีที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง
ที่มีการยื่นคำร้องให้แจ้งไปยังผู้ร้องทราบด้วย

                    มาตรา 29  เมื่อบุคคลหรือหน่วยงานได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบตาม
มาตรา 28 แล้ว  ให้ดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้แล้วเสร็จ
ภายในระยะเวลาที่กำหนด และแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบ
                    ในกรณีที่การดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่อาจกระทำให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้บุคคลหรือหน่วยงานขอขยาย
ระยะเวลาการดำเนินการไปยังคณะกรรมการพร้อมทั้งเหตุผลและระยะเวลาที่ขอขยายก่อนที่
กำหนดระยะเวลาเดิมจะสิ้นสุดลง  แต่ทั้งนี้ ห้ามมิให้ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการมากกว่า
สองครั้ง

                    มาตรา 30  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ถ้าบุคคลหรือหน่วยงาน
มิได้มีการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือดำเนินการแล้ว
แต่ยังไม่แล้วเสร็จโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการ
ให้มีการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในหกสิบวันนับแต่
วันที่ได้รับรายงาน  ในการนี้ให้คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
เพื่อการสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่การดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหา
การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นไม่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะสั่งการได้ ให้คณะกรรมการ
ดำเนินการตามมาตรา 31

                    มาตรา 31  ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการหรือสั่งการให้ดำเนินการตาม
มาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 30 ให้คณะกรรมการรายงานต่อ
รัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป  ทั้งนี้ ในการรายงานต่อรัฐสภาดังกล่าว หากคณะกรรมการเห็นว่า
จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม  คณะกรรมการจะเผยแพร่กรณีที่ไม่มีการดำเนินการ
ตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นให้สาธารณชนทราบก็ได้

                    มาตรา 32  ในการปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้
                    (1) มีหนังสือสอบถามส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อให้
มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรืองานใด ๆ หรือส่งวัตถุ
เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผู้แทนมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำประกอบการ
พิจารณาได้
                    (2) มีหนังสือเรียกบุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ
หรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
                    การส่งหนังสือเรียกให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนาหรือ
สำนักงานของผู้รับ ในกรณีที่ไม่อาจส่งหนังสือเรียกให้แก่ผู้รับตามวิธีดังกล่าวได้หรือไม่มีการ
ปฏิบัติตามหนังสือเรียกภายในระยะเวลาอันสมควร ให้คณะกรรมการส่งโดยวิธีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งหรือจะจัดส่งโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
                    (3) ดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายเพื่อเข้าไปในเคหสถานหรือ
สถานที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและโดยไม่ชักช้า ก่อนการตรวจสอบหรือรวบรวมพยาน
หลักฐานดังกล่าวให้กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายแสดงความบริสุทธิ์
เสียก่อนและเท่าที่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการต่อหน้าผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่หรือ
ผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือถ้าหาบุคคลดังกล่าวนั้นไม่ได้ก็ให้ดำเนินการต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน
ซึ่งได้ขอร้องมาเป็นพยาน  ในการนี้ ให้ผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องให้ความ
ร่วมมือเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นไป
โดยสะดวก
                    (4) วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทาง
ของพยานบุคคลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการแต่งตั้งเพื่อทำการตรวจสอบการละเมิด
สิทธิมนุษยชน

                    มาตรา 33  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการ
หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการแต่งตั้งเพื่อทำการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                                                     หมวด 4
                                                 บทกำหนดโทษ
                                                  ---------------

                    มาตรา 34  ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานที่
ถูกเรียกหรือถูกสั่งให้ส่งตามมาตรา 32 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                    มาตรา 35  ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 32 (3) ต้องระวาง
โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                                                  บทเฉพาะกาล
                                                  ---------------

                    มาตรา 36  ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้คณะกรรมการ
สรรหากรรมการเริ่มดำเนินการสรรหาเพื่อเลือกกรรมการตามมาตรา 8

                    มาตรา 37  ในกรณีที่มีการสรรหากรรมการในระหว่างที่ยังไม่มีประธาน
ศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การเอกชนตาม
มาตรา 24 ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการตามมาตรา 8 ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา
อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ อธิการบดีหรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลแห่งละ
หนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้ขึ้นทะเบียน
ไว้กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแห่งละ
หนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสิบคน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการ
หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเองกิจการละหนึ่งคนรวมเป็น
สามคนเป็นกรรมการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการ
                    หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตาม
วรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
             ชวน หลีกภัย
             นายรัฐมนตรี




--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ:-  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 199 และมาตรา 200 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสม รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครอง
สิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี หรือการส่งเสริม
การศึกษา การวิจัย ความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการ
จัดทำรายงานประจำปี  โดยได้กำหนดให้อำนาจหน้าที่อื่นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ ตลอดจนคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การเลือก การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ สมควรดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้